Tuesday, March 3, 2020

เยี่ยมชมมหาสมบัติในมหารัชมงคลมหาเจดีย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ


พระรัตนเจดีย์ศรีมหามงคล   ชั้นบนสุดของพิพิธภัณฑ์

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๖๓

            นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมากที่เดินกันอยู่ขวักไขว่ภายในบริเวณ ดูเหมือนจะช่วยยืนยันข้อมูลที่ได้มาเป็นอย่างดีว่า “มหารัชมงคลมหาเจดีย์” เป็น ๑ ใน ๑๐ รายชื่อของสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมซึ่งนักท่องเที่ยวชาวอาทิตย์อุทัยเมื่อมาเยือนประเทศไทยต้องไม่พลาดการเยี่ยมชม

            น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเองกลับยังไม่ค่อยรู้จักสถานที่แห่งนี้กันเท่าใดนัก

 มหารัชมงคลมหาเจดีย์

            มหารัชมงคลมหาเจดีย์ ตั้งอยู่ภายในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ วัดเก่าแก่ย่านฝั่งธนบุรี ปรากฏหลักฐานตามเอกสารว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๓ (อยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) โดยเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งซึ่งไม่ปรากฏพระนามชัดเจน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๘ ก่อนยกฐานะเป็นพระอารามหลวงประจำหัวเมืองธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๑๙๙ (อยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ล่วงมาจนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ วัดปากน้ำทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ไม่มีเจ้าอาวาสปกครอง คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งพระสมุห์สด จนฺทสโร จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านเป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดของการปฏิบัติกรรมฐานพุทธานุสติที่เรียกว่า “วิชชาธรรมกาย” ทำให้วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กลับมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ด้วยความสูงถึง ๘๐ เมตร พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลจึงมีความสูงมากกว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ที่มีความสูง ๗๘ เมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ ๕๐ ตารางเมตร หรือ ๑ ไร่เศษ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนากับรัตนโกสินทร์ คือจากยอดเจดีย์ลงมาถึงองค์ระฆังถอดแบบจากเจดีย์ประธานวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกลางขององค์เจดีย์ลงมาถึงฐานเก้าชั้นด้านล่างเป็นทรงสี่เหลี่ยมแบบย่อมุมไม้สิบสองถอดแบบจากพระปรางค์วัดอรุณฯ

ปลียอดหุ้มด้วยทองคำ น้ำหนักสุทธิ ๑๐๙,๒๒๐.๕ กรัม หรือประมาณ ๑๐๙ กิโลกรัม ยังมีแผ่นทองคำน้ำหนักประมาณ ๕ กิโลกรัม กว้าง ๙.๙ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔.๙ เซนติเมตร จารึกข้อความว่า “สติ มตฺตญฺญุตา ชาตา” แปลว่า “สติเป็นเหตุให้เกิดความประมาณตน” และ “ปญฺจสีลํ สุรกฺขิตํ โลกสฺสตฺถิ สนฺติสุขํ” แปลว่า “ศีลห้าที่รักษาดีแล้ว ย่อมมีสันติสุขแก่ชาวโลก” ใช้งบประมาณจากสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในการสร้างรวมกว่า ๓๐๐ ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๗ ปี ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔

วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ บูชาพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และเป็นอนุสรณ์สถาน เจริญศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เชิดชูศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย เอกลักษณ์ของชาติให้เป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป

คำว่า “มหารัช” แปลว่า “แผ่นดินที่ยิ่งใหญ่” กล่าวคือ รัชกาลของทั้งสองพระองค์ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ พระศาสนา และประชาชนไว้อย่างยิ่งใหญ่ไพศาล อีกทั้งยังพ้องกับสมณศักดิ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (วรปุญญมหาเถระ) ของเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญอีกด้วย

 มหารัชมงคลมหาเจดีย์จำลองในพิพิธภัณฑ์ชั้น ๑ 

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่พระมหาเจดีย์นี้ไม่ได้ทึบตันเหมือนเจดีย์โบราณ แต่ได้จัดสร้างภายในเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้รวม ๕ ชั้น ดังนี้ ชั้นที่ ๑ พิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ชั้นที่ ๒ ห้องปฏิบัติธรรม รองรับได้ ๑,๐๐๐ คน ชั้นที่ ๓ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จัดแสดงพระพุทธรูป สิ่งของส่วนตัวของท่านเจ้าอาวาส เช่น นาฬิกา ไม้เท้า และของที่ระลึกที่ได้รับถวายจากหน่วยงานต่าง ๆ และจากพุทธศาสนิกชน ชั้นที่ ๔ ประดิษฐานรูปเหมือนบูรพาจารย์ในอดีต ชั้นที่ ๕ เป็นชั้นสูงสุด กึ่งกลางเป็นโดมใหญ่ประดิษฐานพระเจดีย์แก้ว

ห้องปฏิบัติธรรมบนชั้น ๒ 

สิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์น่าชมเป็นพิเศษ คือ ตาลปัตรและพัดยศ ที่จัดแสดงไว้ในทุกชั้น รวมมากกว่าสามพันเล่ม โดยเฉพาะชั้นแรกจัดแสดงตาลปัตรที่ได้รับพระราชทานจากพระบรมวงศ์ใส่ในตู้อย่างดี แบ่งประเภทตามพระนามแต่ละพระองค์ที่พระราชทาน ซึ่งจากบันทึกของทางวัด ตาลปัตรเล่มที่เก่าแก่ที่สุดคือตาลปัตรจากงานพระราชทานเพลิงศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ อายุร้อยกว่าปี ในขณะที่ตาลปัตรสำคัญเล่มใหม่ล่าสุดคือตาลปัตรที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๕๖๒ รัชกาลปัจจุบัน

 ตาลบัตรนับร้อยที่นำมาจัดแสดงไว้

 ตาลปัตรที่ระลึกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒

คัมภีร์ใบลานในทางพุทธศาสนาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีค่าคู่ควรชม เป็นคัมภีร์เก่าแก่แต่โบราณที่เป็นสมบัติตกทอดของวัด หาดูชมได้ยาก มีทั้งแบบสมุดไทยที่ประดับด้วยการลงรักปิดทอง และแบบภาพวาดจิตรกรรมประกอบเนื้อหาไว้อย่างสวยงาม คัมภีร์แต่ละเล่มยังบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรและภาษาที่แตกต่างกันออกไป จัดแสดงไว้ให้ชมในตู้กระจกซึ่งเรียงรายใกล้กับด้านประตูทางเข้าชั้นที่ ๑

 จิตรกรรมภาพนรกในคัมภีร์ใบลาน

เช่นเดียวกันกับพระพุทธรูปโบราณที่จัดแสดงอยู่จำนวนมากในห้องสังฆคุณารมณ์ ชั้น ๓ ที่เป็นพิพิธภัณฑ์อีกชั้น มีตั้งแต่พระพุทธรูปที่อยู่คู่วัดมาตั้งแต่แรกสร้าง อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ และพระพุทธรูปในสมัยหลังลงมาถึงปัจจุบัน วัสดุที่ใช้ก็มีหลากหลาย เช่น พระพุทธรูปหล่อจากโลหะ พระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ทั้งยังมีความหลากหลายในรูปแบบศิลปกรรม เช่น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปศิลปะลาว พระพุทธรูปศิลปะพม่า พระพุทธรูปศิลปะลังกา พระโพธิสัตว์ศิลปะจีน ฯลฯ

 รูปเหมือนพระมงคลเทพมุนี (สด จนทสโร) หล่อด้วยทองคำ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม

ห้องธัมมคุณารมณ์บนชั้นที่ ๔ คืออีกจุดที่น่าชม เนื่องจากกึ่งกลางห้องภายในกระจกที่กั้นรอบด้านประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ขนาดเท่าครึ่งขององค์จริง สร้างถวายโดยพระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและคณะ ด้วยการหล่อขึ้นจากทองคำบริสุทธิ์น้ำหนัก ๑,๐๐๐ กิโลกรัม (๑ ตัน) นอกจากนี้ยังได้ประดิษฐานรูปเหมือนบูรพาจารย์ของวัดและของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ได้แก่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถระ ป.ธ. ๙) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถระ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถระ ป.ธ. ๙) วัดสามพระยา สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺญมหาเถระ ป.ธ. ๙) วัดปากน้ำ

 การประดับประดาอันวิจิตรโดยรอบพระรัตนเจดีย์ศรีมหามงคลชั้นบนสุด  

ชั้นบนสุดคือชั้น ๕ เป็นโถงกว้าง กึ่งกลางเพดานทำเป็นโดมโค้ง สูง ๑๐ เมตร โดยรอบตกแต่งด้วยภาพเขียนจิตรกรรม “อนันตจักรวาล” และอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ประทับใต้ร่มไม้ตรัสรู้ประจำพุทธองค์โดยรอบ โดยเกี่ยวกับเรื่องราวของโลกใต้ทะเลไทย ขณะที่เพดานนอกโดมทาสีแดงประดับลายทองรูป ๑๒ นักษัตร และเทพชุมนุม ฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๕๒ นายช่างเอกในรอบสองร้อยปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 ภาพอดีตพระพุทธเจ้า

 เทพชุมนุม

 ลายทอง ๑๒ นักษัตรบนเพดาน

กึ่งกลางของห้องตั้งตระหง่านด้วยเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างจากแก้วล้วน ๆ องค์แรกและองค์เดียวของโลก มีชื่อว่า “พระรัตนเจดีย์ศรีมหามงคล” ซึ่งจำลองแบบมาจากองค์พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลแห่งนี้เอง สร้างด้วยแก้วสีเขียวมรกตลายกระแสน้ำ หนา ๑ เซนติเมตร แกะสลักด้วยมือกว่า ๘๐๐ ชิ้น นำมาวางซ้อนกัน ๘๐๐ ชั้น แต่ละชั้นผนึกแน่นด้วยกาวที่มีความใสพิเศษจนมองไม่เห็นรอยต่อซึ่งสั่งทำขึ้นโดยเฉพาะจากอเมริกา รวมความสูง ๘ เมตร น้ำหนัก ๑๘ ตัน ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี

ด้านในของเจดีย์ทำเป็นเจดีย์เล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในซุ้มจระนำทั้งสี่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรทองคำ พระพุทธรูปปางสมาธิทองคำ หลวงพ่อสดทองคำ และลูกแก้ว รอบเจดีย์มีดอกบัวแก้วรายล้อมอยู่โดยรอบ เปรียบเสมือนเจดีย์แก้วเขียวมรกตนี้ผุดขึ้นมาจากมหาสมุทร ฐานล่างของเจดีย์แก้วจะใช้กระจกแกะสลักเป็นรูปพญานาคจำนวน ๘๐ ตัว เท่ากับพระชนมายุของพระพุทธเจ้า

 พญานาคแก้วสีเขียวประดับฐานเจดีย์

ทั้งนี้ เมื่อสามปีที่ผ่านมา ทางวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ยังได้จัดสร้าง “พระพุทธธรรมกายเทพมงคล” พระพุทธรูปทองแดงองค์ใหญ่ ปางสมาธิเกตุดอกบัวตูม หน้าตักกว้าง ๔๐ เมตร สูง ๖๙ เมตร ประดิษฐานหน้าพระมหารัชมงคลมหาเจดีย์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการก่อสร้างทั้งหมดเริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ได้มีการประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและดอกบัวสัตตบงกช (หัวใจทองคำ) ภายในพระพุทธรูปองค์ใหญ่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันคงเหลือเพียงขั้นตอนการพ่นสีองค์พระและตกแต่งรายละเอียดภายนอกเท่านั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้ ซึ่งจะได้มีการจัดพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ต่อไป


คู่มือนักเดินทาง
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งอยู่ที่ถนนเทอดไท แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐
รถยนต์ส่วนตัว จากวงเวียนใหญ่ตรงมาตามถนนเพชรเกษม เลี้ยวซ้ายเข้าซอยเพชรเกษม ๒๓ ตรงตามทางโดยชิดซ้ายผ่านแยกไปเรื่อย ๆ จะพบสะพานข้ามคลองเข้าวัด จอดรถได้ที่อาคารจอดรถ ๖ ชั้น หน้าโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ รองรับได้ ๙๐๐ คัน เปิดให้บริการ เวลา ๐๖.๐๐-๒๑.๐๐ นาฬิกา อัตราค่าจอดรถชั่วโมงแรกฟรี ชั่วโมงที่ ๒-๔ คิดค่าบริการชั่วโมงละ ๒๐ บาท
กรณีไม่มีรถยนต์ส่วนตัว สามารถโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสไปลงที่สถานีตลาดพลู แล้วนั่งรถสองแถวต่อเข้าไปถึงในบริเวณวัด
พิพิธภัณฑ์ภายในองค์พระเจดีย์เปิดให้เข้าชมในเวลา ๐๘.๐๐-๑๘๐๐ นาฬิกา ทุกวัน ไม่มีวันหยุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายโทรศัพท์ ๐ ๒๔๖๗ ๐๘๑๑


Tuesday, February 18, 2020

ตำหนักพระแม่กวนอิม โชคชัย ๔ แดนสุขาวดีกลางกรุง

 องค์แม่พระกวนอิมพันเนตรพันกร


ณัฏฐวิภา จิโน...เรื่องและภาพ
นักศึกษาภาควิชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ถ้าพูดถึงศาสนสถานที่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของศาสนพุทธฝ่ายมหายาน ที่ได้ยินชื่อเสียงมานาน ว่าเป็นดินแดนของพญามังกร วันนี้ฉันจะพามาชมสถานปฏิบัติธรรมย่านโชคชัย ๔  ที่มีความสวยงามทั้งศิลปะและสถาปัตยกรรม มาแล้วทั้งอิ่มบุญ อิ่มใจไปกับความสวยงามชวนมอง นั่นคือ ตำหนักพระแม่กวนอิม

ตำหนักพระแม่กวนอิม ตั้งอยู่ในโชคชัย ๔ ซอย ๓๙ เขตลาดพร้าว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖  โดย พระอาจารย์ใหญ่กวงเซง เป็นพุทธศาสนสถานฝ่ายมหายาน หลังจากที่พระอาจารย์ใหญ่กวงเซงได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมยังประเทศต่าง ๆ แล้ว เมื่อได้กลับมายังเมืองไทยท่านจึงมีความตั้งใจจะสร้างสถานปฏิบัติธรรมขึ้น เพื่อเป็นการเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนาและปฏิบัติบูชาถวายแด่พระพุทธองค์ พระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ และเจ้าชายอั้งไฮ้ยี้  
 มหาเจดีย์พระพุทธเจ้าหมื่นพระองค์

สถาปัตยกรรมของตำหนักพระแม่กวนอิมสร้างเป็นแบบจีน ถือได้ว่าเป็นสถานสักการะหนึ่งที่ผสมผสานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว นอกจากจะมีรูปปั้นองค์เทพจีนหลายองค์ในหลากหลายรูปแบบให้ได้สักการะกันแล้ว ยังมีรูปปั้นหินอ่อนและงานแกะสลักหินองค์เทพต่าง ๆ วางเรียงรายอย่างวิจิตรตระการตาในแต่ละโซนโดยรอบพระมหาเจดีย์ ให้ผู้มาสักการะสามารถเดินเยี่ยมชมท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงามได้อีกด้วย

 ถังโอมมณีแปะหมี่ฮง

  พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าหมื่นพระองค์ ตั้งตระหง่านเสียดฟ้าด้วยความสูง ๒๑ ชั้น ซึ่งถือได้ว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียวทำให้ผู้มาเยือนมองเห็นจากจากระยะไกลได้อย่างชัดเจน เมื่อเดินเข้ามาทางด้านในพระมหาเจดีย์ จะเป็นที่ประดิษฐาน องค์พระแม่กวนอิมพันเนตรพันกร มียี่สิบพระพักตร์  ความสูง ๘.๓๐ เมตร ประดิษฐานโดยรอบทั้ง ๔ ทิศในพระมหาเจดีย์ และยังประดิษฐานพระพุทธเจ้าองค์เล็กหนึ่งหมื่นพระองค์เรียงรายรอบพระมหาเจดีย์อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีถังไม้ตั้งเรียงกันด้านในรอบเจดีย์ทั้งหมด ๑๐๘ ใบ ซึ่งเรียกว่า ถังโอมมณีแปะหมี่ฮง แต่ละใบมีลวดลายที่ต่างกัน ไว้สำหรับสวดมนต์พร้อมกับหมุนถังไปด้วยเพื่อเสริมบารมี


บริเวณด้านหน้าองค์เทพต่าง ๆ ในพระมหาเจดีย์จะมีเครื่องสักการะเทพเจ้าสำหรับหลากหลายวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองดวงชะตา ชุดไหว้ประจำวันเกิด และอีกมากมายให้ได้เลือกมาบูชา การขึ้นไปเยี่ยมชมชั้นอื่น ๆ ปกติแล้วจะสามารถเข้าไปได้เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ ตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น  โดยจะมีลิฟท์อำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเยือน ชั้นบนจะมีทั้งพระบรมสารีริกธาตุ ที่สำคัญชั้น ๒๑ ซึ่งเป็นชั้นบนสุดของเจดีย์จะมี แก้วสารพัดนึกพร้อมสิ่งของบูชาให้ได้สักการะกันอีกด้วย

 สวนพระหินหยกขาว

ด้านนอกพระมหาเจดีย์นั้น จะมี สวนหินล้านปีหรือ สวนพระหินหยกขาวเป็นแบบจีนแท้แห่งเดียวในประเทศไทย สวนหินนี้จะมีการสลักหินเทวรูปต่าง ๆ ทั้งที่สลักจากหินหยกขาว หินอ่อน รวมทั้งหินแกรนิต

ในส่วนของตำหนักพระแม่กวนอิม เพียงเดินมาฝั่งตรงข้ามจากพระมหาเจดีย์ ผู้มาเยือนจะเห็นประตูทางเข้าเพื่อมาสักการะ ในพระตำหนักมีรูปปั้นพระแม่กวนอิมทรงประทับบน เสี่ยมชู้ หรือ คางคกสามขา โดยรอบด้วยระฆัง ๙๙ ใบ สามารถเคาะได้เพื่อเป็นสิริมงคล อีกทั้งยังมีอาณาบริเวณตำหนักพระศิวะเจ้า รูปปั้นเทพเจ้าตี่จั่งอ๊วงผ่อสัก และเทพเซียนต่าง ๆ ประดิษฐานโดยรอบ

 หนึ่งในเทพเจ้าจีน

นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ประดิษฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้อีกหนึ่งองค์คือ เจ้าปู่มังกรเขียวด้วยความเชื่อที่ว่า ที่ดินแห่งนี้คือส่วนหัวของพญามังกร ฉะนั้นเมื่อผู้ใดตั้งใจมาปฏิบัติ และน้อมกาย วาจา ใจ มากราบขอพร ผู้นั้นก็จะสมปรารถนา” 

การปฏิบัติถือศีลภายในวัดมีกฎระเบียบเคร่งครัดมาก ผู้ที่มาบวชต้องฉันอาหารเจตลอดชีวิตและสึกไม่ได้ ต้องตั้งใจแน่วแน่ที่จะสละชีวิตทางโลก เข้าหาทางธรรมเพื่อศึกษาและมุ่งในการปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด




Thursday, March 14, 2019

Youth Bloggers รุ่นที่ ๒๒ (YB Special)





อนุสาร อ.ส.ท. ร่วมกับ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน จัด “โครงการอบรมประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านสื่อโซเชียลออนไลน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน” ขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงแรมเทวราช อำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน 


ในการนี้มีนางดาราวรรณ ยะราช   หัวหน้าฝ่ายพัฒนาสังคมและส่งเสริมการท่องเที่ยว นายอธิเดช มีชำนาญ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการอบรม โดยในครั้งนี้ถือเป็น “YOUTH BLOGGERS SPECIAL เนื่องจากเป็นการจัดอบรมให้กับบุคคลากรทางด้านการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวจากแต่ละท้องถิ่นในจังหวัดน่าน เข้าร่วมโครงการ ฯ  รวมทั้งสิ้น ๕๐ คน

ในวันแรกช่วงเช้าเป็นการอบรมภาคทฤษฏี โดยนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. ทำหน้าที่วิทยากร บรรยายเรื่องเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ของอนุสาร อ.ส.ท. และการสร้างคอนเทนต์เพื่อเผยแพร่ทางสื่อโซเชี่ยลในมาตรฐานเดียวกันกับของอนุสาร อ.ส.ท.  ประกอบด้วยเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล การเรียบเรียงเนื้อหาเป็นสารคดีสั้น และการถ่ายภาพแหล่งท่องเที่ยวให้ดูน่าสนใจเพื่อใช้ประกอบสารคดีท่องเที่ยว


 ในช่วงบ่ายจะลงฝึกปฏิบัติภาคสนามเก็บข้อมูล และถ่ายภาพประกอบสำหรับจัดทำสารคดีสั้น  โดยเดินทางลงพื้นที่ ณ วัดศรีมงคล อำเภอท่าวังผา ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียง ภายในบริเวณวัดได้จัดการสถานที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมได้ถ่ายภาพ รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ในอดีตจัดแสดงไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าสนใจ เพื่อฝึกเก็บข้อมูลและถ่ายภาพแหล่งท่องเที่ยว  นำมาสร้างสรรค์ นำเสนอเป็นสารคดีสั้นประกอบภาพถ่าย เพื่อใช้เป็นคอนเทนท์เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์



ในวันที่สองผู้เข้าอบรมฝึกเชิงปฏิบัติการเขียนสารคดีสั้น พร้อมคัดเลือกภาพถ่าย จากสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่ของตนเองจัดทำเป็นสารคดีท่องเที่ยวขนาดสั้น พร้อมนำเสนอถึงกระบวนการในการคิดสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งผู้เข้าอบรมแต่ละคนต่างก็ใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ทั้งเนื้อหาและภาพถ่ายกันอย่างเต็มที่ แสดงถึงความพร้อมในการทำหน้าที่เครือข่ายด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่น ที่จะนำเอาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ  ในพื้นที่ของตนเอง ออกมาร่วมนำเสนอผ่านทางเครือข่ายชุมชนออนไลน์ของอนุสาร อ.ส.ท. ต่อไป   



หลังจากการวิจารณ์ผลงานโดยวิทยากรเพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงผลงานให้สมบูรณ์ในโอกาสต่อไปแล้วก็เป็นพิธีมอบประกาศนียบัตร โดยมีนายบุญเพียร ยาวิไชย หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการอบรม พร้อมทั้งกล่าวปิดการอบรมด้วย


ร่วมสนุกส่งภาพถ่ายและบอกเล่าเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้านเข้าประกวด ชิงรางวัลกล้องคอมแพ็กต์มูลค่า ๓,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร และเสื้อยืด YOUTH BLOGGERS เป็นประจำทุกเดือน โดยดูรายละเอียดการส่งผลงานเข้าประกวด และชมภาพถ่ายกิจกรรมและผลงานของเยาวชน YOUTH BLOGGERS ได้ที่ อนุสาร อ.ส.ท. ในคอลัมน์ “เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” เป็นประจำทุกเดือน และทางออนไลน์ที่กลุ่ม www.facebook.com/groups/osothoYB และที่แฟนเพจ www.facebook.com/youthbloggers

Monday, March 11, 2019

ฟาร์มสุขหนองน้ำครก


ราตรี ภูฝาง...เรื่อง Youth Bloggersภาพ

"ม่วงตึ๊ดหัวเรือพญานาคหางหงส์ ชื่อเสียงโด่งโคมหม่าเต้า ฟังเรื่องเล่าหนองน้ำครก ชมนก อนุรักษ์พันธุ์ปลา มานั่งวัวเทียมเกวียน ฟั่นเทียนสะเดาะเคราะห์ " คือคำขวัญของบ้านม่วงติ๊ด

หนองน้ำครกคือหนึ่งในคำขวัญ เป็นแนวของน้ำน่านในสมัยก่อน ในอดีตน้ำน่านจะเป็นแนวตรงมาจากใต้ป่าช้าบ้านแสงดาว ในตำนานเล่าว่าประมาณพุทธศักราช ๑๙๐๒ พระยาการเมือง เจ้าเมืองน่าน ได้อพยพผู้คนข้าราชบริพารจากวรนคร มาหยุดพักขบวนแพที่บริเวณหนองน้ำครก แล้วทรงดำริว่าจะไปสร้างเมืองใหม่ที่เมืองภูเพียงแช่แห้ง


เดิมบ้านม่วงตึ๊ด ตั้งอยู่บ้านดอนร้องแหด ริมหนองน้ำครก ซึ่งมีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้าน เรียก “หมู่บ้าน
น้ำโปรด (พัง )”  ส่วนวัดม่วงตึ๊ดอยู่บริเวณทุ่งนาในปัจจุบัน เมื่อเกิดการกัดเซาะชาวบ้านจึงอพยพมาอยู่ที่ดอนที่เป็นป่าละเมาะ ภาษาเหนือเรียกว่า “ตึ๊ด” เลยได้ชื่อ “บ้านม่วงตึ๊ด”

บริเวณที่เป็นโรงเรียนในปัจจุบันเป็นหนองน้ำ ชาวบ้านมักนำเอาช้างมาอาบน้ำและดื่มกินกัน จึงเรียกว่า ”หนองช้าง” และด้านหลังโรงเรียนปัจจุบันเรียกว่า “บ้านหล่ายหนอง” ตอนหลังหนองน้ำตื้นเขินเพราะน้ำท่วม แนวน้ำน่านเก่าเปลี่ยนทิศไหลวกกลับออกทางบ้านศรีบุญเรือง ไหลอ้อมไปทางบ้านท่าลี่ บ้านพวงพะยอม พุ่งตรงผ่านบ้านพญาวัดและบ้านเจดีย์


ต่อมาเจ้าผู้ครองนครน่านในสมัยใดไม่ปรากฏ ได้ทำการขุดลอกแนวน้ำลัดตั้งแต่แนวบ้านพญาภู ลัดเลาะมาถึงบ้านศรีบุญเรืองเป็นแนวแม่น้ำน่านใหม่ ส่วนแนวแม่น้ำเดิมบางส่วนก็ตื้นเขิน บางส่วนก็เป็นหนองน้ำครกในปัจจุบัน สาเหตุที่เรียก “ หนองน้ำครก ” เพราะ ลักษณะเหมือนครกนั้นเอง




 ทางราชการได้ทำการขุดลอกพัฒนาหนองน้ำครกที่เคยเป็นแนวน้ำเก่าเป็นแก้มลิงไว้เก็บกักน้ำไว้ใช้ในการดำรงชีวิตของชุมชนม่วงตึ๊ดและใกล้เคียง  โดยล่าสุดองค์การบริหารและพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้ให้งบประมาณมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว แปลงปลูกดอกไม้นานาชนิดหลากสีสัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดน่านแห่งใหม่