Thursday, February 28, 2019

ลาบ"ดงหอ" สู่อาหารวิถี “ลาบหมูหมี่น้ำมวบ"

ดงหอ. สถานที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อช้างงาแดง


ธัญวรัตม์ ขัดแก้ว ...เรื่องและภาพ
ผลงานผู้เข้าร่วมอบรมการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านสื่อโซเชียล YB Special (YB#22) จังหวัดน่าน

ตั้งแต่จำความได้ "ดงหอ" คือสถานที่ทุกคนภายในชุมชนต้องรู้จัก เพราะเป็นสถานที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของตำบลน้ำมวบและตำบลส้านนาหนองใหม่ นั่นก็คือศาลเจ้าพ่อช้างงาแดงอันเป็นที่เคารพสักการะ เป็นที่พึ่ง เป็นขวัญ และกำลังใจ ทั้งในยามทุกข์หรือสุข

เมื่อเข้ามาในบริเวณศาลจะสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ ร่มเย็นและเงียบสงบ ที่นี่จะมีทั้งพิธีแก้บนประจำปี หรือพิธีแก้บนในยามที่บนบานขออะไรไว้แล้วสำเร็จตามที่ขอ บางคนบนหมู บางคนบนไก่ บางคนบนเงิน 

แต่ดูเหมือนว่าหมู คือเครื่องเซ่นไหว้แก้บนที่นิยมกันมากที่สุด การนำหมูมาแก้บนต้องนำหมูตัวเป็น ๆ มาฆ่า แล้วชำแหละภายในบริเวณที่จัดเตรียมไว้บริเวณเขตศาล (นั่นคือสาเหตุที่ฉันไม่ค่อยอยากมาดู เพราะสงสารหมู)

ลาบดิบผสมเลือดหมูสดๆกับเครื่องปรุง โดยมีตัวชูโรงคือมะแขว่นเครื่องเทศที่มีกลิ่นรสฉุนจมูกเพื่อดับกลิ่นคาว
ชาวบ้านเรียกลาบดงหอ

              และนี่จึงเป็นที่มาของคำว่า "ลาบดงหอ" และ “ลาบหมูหมี่”

ลาบดงหอคือการนำเนื้อหมูดิบ ๆ สด ๆ ที่ชำแหละ นำมาสับแต่ไม่ค่อยละเอียดมาก แล้วผสมกับเลือดสด ๆ  ใส่เครื่องปรุง เครื่องเทศ ดับกลิ่นคาว โดยมีน้ำซุปน้ำอ่อมและผักเป็นกับแกล้ม

แล้วลาบหมูหมี่ล่ะ เป็นแบบไหน ใส่เส้นหมี่ลงไปในลาบด้วยหรืออย่างไร บางคนสงสัย


“หมี่” เป็นภาษาท้องถิ่น แปลว่านำมาทอดหรือผัดให้หอมกรอบ แล้วนำมาคลุกเคล้ากับหมูสับละเอียด ใส่่เครื่องปรุงปรุงรสตามชอบ ที่ขาดไม่ได้คือ พระเอกของเรา “มะแขว่น” เครื่องเทศที่มีรสและกลิ่นฉุนจมูกเติมลงไปเพื่อดับกลิ่นคาว ใส่ข้าวคั่ว เพิ่มเปลือกไม้ขูดตำละเอียดเพื่อให้มีปริมาณมากขึ้นได้ แถมเป็นสมุนไพรในตัวด้วย

 รับประทานได้ทั้งแบบลาบดิบและลาบคั่วที่นำมาทำให้สุก รสชาติจะอร่อยคนละแบบ

ลาบหมูหมี่เป็นอาหารวิถีอาหารพื้นบ้านที่มีแต่ดั้งเดิม รสชาติอร่อยกลมกล่อม เข้าถึงประโยชน์ของสมุนไพรพื้นบ้านกับผักปลอดสาร มาบ้านน้ำมวบถ้าไม่ได้ชิมลาบหมูหมี่อาหารวิถี แสดงว่ามาไม่ถึง

ลองมากินมานอนใช้ชีวิตแบบบ้าน ๆ ที่บ้านน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มาลองเรียนรู้และลงมือทำ “ลาบหมูหมี่” ด้วยกัน