Tuesday, March 3, 2020

เยี่ยมชมมหาสมบัติในมหารัชมงคลมหาเจดีย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ


พระรัตนเจดีย์ศรีมหามงคล   ชั้นบนสุดของพิพิธภัณฑ์

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๖๓

            นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมากที่เดินกันอยู่ขวักไขว่ภายในบริเวณ ดูเหมือนจะช่วยยืนยันข้อมูลที่ได้มาเป็นอย่างดีว่า “มหารัชมงคลมหาเจดีย์” เป็น ๑ ใน ๑๐ รายชื่อของสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมซึ่งนักท่องเที่ยวชาวอาทิตย์อุทัยเมื่อมาเยือนประเทศไทยต้องไม่พลาดการเยี่ยมชม

            น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเองกลับยังไม่ค่อยรู้จักสถานที่แห่งนี้กันเท่าใดนัก

 มหารัชมงคลมหาเจดีย์

            มหารัชมงคลมหาเจดีย์ ตั้งอยู่ภายในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ วัดเก่าแก่ย่านฝั่งธนบุรี ปรากฏหลักฐานตามเอกสารว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๓ (อยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) โดยเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งซึ่งไม่ปรากฏพระนามชัดเจน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๘ ก่อนยกฐานะเป็นพระอารามหลวงประจำหัวเมืองธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๑๙๙ (อยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ล่วงมาจนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ วัดปากน้ำทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ไม่มีเจ้าอาวาสปกครอง คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งพระสมุห์สด จนฺทสโร จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านเป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดของการปฏิบัติกรรมฐานพุทธานุสติที่เรียกว่า “วิชชาธรรมกาย” ทำให้วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กลับมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ด้วยความสูงถึง ๘๐ เมตร พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลจึงมีความสูงมากกว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ที่มีความสูง ๗๘ เมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ ๕๐ ตารางเมตร หรือ ๑ ไร่เศษ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนากับรัตนโกสินทร์ คือจากยอดเจดีย์ลงมาถึงองค์ระฆังถอดแบบจากเจดีย์ประธานวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกลางขององค์เจดีย์ลงมาถึงฐานเก้าชั้นด้านล่างเป็นทรงสี่เหลี่ยมแบบย่อมุมไม้สิบสองถอดแบบจากพระปรางค์วัดอรุณฯ

ปลียอดหุ้มด้วยทองคำ น้ำหนักสุทธิ ๑๐๙,๒๒๐.๕ กรัม หรือประมาณ ๑๐๙ กิโลกรัม ยังมีแผ่นทองคำน้ำหนักประมาณ ๕ กิโลกรัม กว้าง ๙.๙ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔.๙ เซนติเมตร จารึกข้อความว่า “สติ มตฺตญฺญุตา ชาตา” แปลว่า “สติเป็นเหตุให้เกิดความประมาณตน” และ “ปญฺจสีลํ สุรกฺขิตํ โลกสฺสตฺถิ สนฺติสุขํ” แปลว่า “ศีลห้าที่รักษาดีแล้ว ย่อมมีสันติสุขแก่ชาวโลก” ใช้งบประมาณจากสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในการสร้างรวมกว่า ๓๐๐ ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๗ ปี ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔

วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ บูชาพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และเป็นอนุสรณ์สถาน เจริญศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เชิดชูศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย เอกลักษณ์ของชาติให้เป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป

คำว่า “มหารัช” แปลว่า “แผ่นดินที่ยิ่งใหญ่” กล่าวคือ รัชกาลของทั้งสองพระองค์ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ พระศาสนา และประชาชนไว้อย่างยิ่งใหญ่ไพศาล อีกทั้งยังพ้องกับสมณศักดิ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (วรปุญญมหาเถระ) ของเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญอีกด้วย

 มหารัชมงคลมหาเจดีย์จำลองในพิพิธภัณฑ์ชั้น ๑ 

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่พระมหาเจดีย์นี้ไม่ได้ทึบตันเหมือนเจดีย์โบราณ แต่ได้จัดสร้างภายในเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้รวม ๕ ชั้น ดังนี้ ชั้นที่ ๑ พิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ชั้นที่ ๒ ห้องปฏิบัติธรรม รองรับได้ ๑,๐๐๐ คน ชั้นที่ ๓ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จัดแสดงพระพุทธรูป สิ่งของส่วนตัวของท่านเจ้าอาวาส เช่น นาฬิกา ไม้เท้า และของที่ระลึกที่ได้รับถวายจากหน่วยงานต่าง ๆ และจากพุทธศาสนิกชน ชั้นที่ ๔ ประดิษฐานรูปเหมือนบูรพาจารย์ในอดีต ชั้นที่ ๕ เป็นชั้นสูงสุด กึ่งกลางเป็นโดมใหญ่ประดิษฐานพระเจดีย์แก้ว

ห้องปฏิบัติธรรมบนชั้น ๒ 

สิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์น่าชมเป็นพิเศษ คือ ตาลปัตรและพัดยศ ที่จัดแสดงไว้ในทุกชั้น รวมมากกว่าสามพันเล่ม โดยเฉพาะชั้นแรกจัดแสดงตาลปัตรที่ได้รับพระราชทานจากพระบรมวงศ์ใส่ในตู้อย่างดี แบ่งประเภทตามพระนามแต่ละพระองค์ที่พระราชทาน ซึ่งจากบันทึกของทางวัด ตาลปัตรเล่มที่เก่าแก่ที่สุดคือตาลปัตรจากงานพระราชทานเพลิงศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ อายุร้อยกว่าปี ในขณะที่ตาลปัตรสำคัญเล่มใหม่ล่าสุดคือตาลปัตรที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๕๖๒ รัชกาลปัจจุบัน

 ตาลบัตรนับร้อยที่นำมาจัดแสดงไว้

 ตาลปัตรที่ระลึกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒

คัมภีร์ใบลานในทางพุทธศาสนาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีค่าคู่ควรชม เป็นคัมภีร์เก่าแก่แต่โบราณที่เป็นสมบัติตกทอดของวัด หาดูชมได้ยาก มีทั้งแบบสมุดไทยที่ประดับด้วยการลงรักปิดทอง และแบบภาพวาดจิตรกรรมประกอบเนื้อหาไว้อย่างสวยงาม คัมภีร์แต่ละเล่มยังบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรและภาษาที่แตกต่างกันออกไป จัดแสดงไว้ให้ชมในตู้กระจกซึ่งเรียงรายใกล้กับด้านประตูทางเข้าชั้นที่ ๑

 จิตรกรรมภาพนรกในคัมภีร์ใบลาน

เช่นเดียวกันกับพระพุทธรูปโบราณที่จัดแสดงอยู่จำนวนมากในห้องสังฆคุณารมณ์ ชั้น ๓ ที่เป็นพิพิธภัณฑ์อีกชั้น มีตั้งแต่พระพุทธรูปที่อยู่คู่วัดมาตั้งแต่แรกสร้าง อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ และพระพุทธรูปในสมัยหลังลงมาถึงปัจจุบัน วัสดุที่ใช้ก็มีหลากหลาย เช่น พระพุทธรูปหล่อจากโลหะ พระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ทั้งยังมีความหลากหลายในรูปแบบศิลปกรรม เช่น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปศิลปะลาว พระพุทธรูปศิลปะพม่า พระพุทธรูปศิลปะลังกา พระโพธิสัตว์ศิลปะจีน ฯลฯ

 รูปเหมือนพระมงคลเทพมุนี (สด จนทสโร) หล่อด้วยทองคำ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม

ห้องธัมมคุณารมณ์บนชั้นที่ ๔ คืออีกจุดที่น่าชม เนื่องจากกึ่งกลางห้องภายในกระจกที่กั้นรอบด้านประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ขนาดเท่าครึ่งขององค์จริง สร้างถวายโดยพระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและคณะ ด้วยการหล่อขึ้นจากทองคำบริสุทธิ์น้ำหนัก ๑,๐๐๐ กิโลกรัม (๑ ตัน) นอกจากนี้ยังได้ประดิษฐานรูปเหมือนบูรพาจารย์ของวัดและของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ได้แก่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถระ ป.ธ. ๙) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถระ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถระ ป.ธ. ๙) วัดสามพระยา สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺญมหาเถระ ป.ธ. ๙) วัดปากน้ำ

 การประดับประดาอันวิจิตรโดยรอบพระรัตนเจดีย์ศรีมหามงคลชั้นบนสุด  

ชั้นบนสุดคือชั้น ๕ เป็นโถงกว้าง กึ่งกลางเพดานทำเป็นโดมโค้ง สูง ๑๐ เมตร โดยรอบตกแต่งด้วยภาพเขียนจิตรกรรม “อนันตจักรวาล” และอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ประทับใต้ร่มไม้ตรัสรู้ประจำพุทธองค์โดยรอบ โดยเกี่ยวกับเรื่องราวของโลกใต้ทะเลไทย ขณะที่เพดานนอกโดมทาสีแดงประดับลายทองรูป ๑๒ นักษัตร และเทพชุมนุม ฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๕๒ นายช่างเอกในรอบสองร้อยปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 ภาพอดีตพระพุทธเจ้า

 เทพชุมนุม

 ลายทอง ๑๒ นักษัตรบนเพดาน

กึ่งกลางของห้องตั้งตระหง่านด้วยเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างจากแก้วล้วน ๆ องค์แรกและองค์เดียวของโลก มีชื่อว่า “พระรัตนเจดีย์ศรีมหามงคล” ซึ่งจำลองแบบมาจากองค์พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลแห่งนี้เอง สร้างด้วยแก้วสีเขียวมรกตลายกระแสน้ำ หนา ๑ เซนติเมตร แกะสลักด้วยมือกว่า ๘๐๐ ชิ้น นำมาวางซ้อนกัน ๘๐๐ ชั้น แต่ละชั้นผนึกแน่นด้วยกาวที่มีความใสพิเศษจนมองไม่เห็นรอยต่อซึ่งสั่งทำขึ้นโดยเฉพาะจากอเมริกา รวมความสูง ๘ เมตร น้ำหนัก ๑๘ ตัน ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี

ด้านในของเจดีย์ทำเป็นเจดีย์เล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในซุ้มจระนำทั้งสี่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรทองคำ พระพุทธรูปปางสมาธิทองคำ หลวงพ่อสดทองคำ และลูกแก้ว รอบเจดีย์มีดอกบัวแก้วรายล้อมอยู่โดยรอบ เปรียบเสมือนเจดีย์แก้วเขียวมรกตนี้ผุดขึ้นมาจากมหาสมุทร ฐานล่างของเจดีย์แก้วจะใช้กระจกแกะสลักเป็นรูปพญานาคจำนวน ๘๐ ตัว เท่ากับพระชนมายุของพระพุทธเจ้า

 พญานาคแก้วสีเขียวประดับฐานเจดีย์

ทั้งนี้ เมื่อสามปีที่ผ่านมา ทางวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ยังได้จัดสร้าง “พระพุทธธรรมกายเทพมงคล” พระพุทธรูปทองแดงองค์ใหญ่ ปางสมาธิเกตุดอกบัวตูม หน้าตักกว้าง ๔๐ เมตร สูง ๖๙ เมตร ประดิษฐานหน้าพระมหารัชมงคลมหาเจดีย์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการก่อสร้างทั้งหมดเริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ได้มีการประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและดอกบัวสัตตบงกช (หัวใจทองคำ) ภายในพระพุทธรูปองค์ใหญ่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันคงเหลือเพียงขั้นตอนการพ่นสีองค์พระและตกแต่งรายละเอียดภายนอกเท่านั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้ ซึ่งจะได้มีการจัดพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ต่อไป


คู่มือนักเดินทาง
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งอยู่ที่ถนนเทอดไท แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐
รถยนต์ส่วนตัว จากวงเวียนใหญ่ตรงมาตามถนนเพชรเกษม เลี้ยวซ้ายเข้าซอยเพชรเกษม ๒๓ ตรงตามทางโดยชิดซ้ายผ่านแยกไปเรื่อย ๆ จะพบสะพานข้ามคลองเข้าวัด จอดรถได้ที่อาคารจอดรถ ๖ ชั้น หน้าโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ รองรับได้ ๙๐๐ คัน เปิดให้บริการ เวลา ๐๖.๐๐-๒๑.๐๐ นาฬิกา อัตราค่าจอดรถชั่วโมงแรกฟรี ชั่วโมงที่ ๒-๔ คิดค่าบริการชั่วโมงละ ๒๐ บาท
กรณีไม่มีรถยนต์ส่วนตัว สามารถโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสไปลงที่สถานีตลาดพลู แล้วนั่งรถสองแถวต่อเข้าไปถึงในบริเวณวัด
พิพิธภัณฑ์ภายในองค์พระเจดีย์เปิดให้เข้าชมในเวลา ๐๘.๐๐-๑๘๐๐ นาฬิกา ทุกวัน ไม่มีวันหยุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายโทรศัพท์ ๐ ๒๔๖๗ ๐๘๑๑