Sunday, February 19, 2017

ความลับของ ย.ยักษ์

เรื่องและภาพโดย กลุ่มที่ ๔ นิภาพร เบ็ญพาด ปณิลดา เบ็ญพาด จุฑาทิพย์ บุญเมฆ อฑิตยา แสงเพ็ชรอ่อน และสิขรินทร์ เปรมปรีดิ์ ผลงานสารคดีกลุ่มจากโครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๙


ยักษ์ในความคิดของท่านของอาจจะเป็นสิ่งดุร้ายและน่ากลัว แต่ก็ไม่เสมอไป สำหรับยักษ์ที่ข้าพเจ้ากำลังจะกล่าวถึงต่อจากนี้

ในวัดทิพย์สุคนธารามมีพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ที่เป็นจุดไฮไลต์

ส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงวัดทิพย์สุคนธาราม คนทั่วไปต้องนึกถึงพระปางขอฝนองค์นี้เป็นสิ่งแรก


แต่ท่านคงไม่ได้สังเกตว่า จะมียักษ์อีกสองตนยืนอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระพุทธเมตตา ฯ ด้านซ้ายเป็นยักษ์ตัวสีแดง และด้านขวาเป็นยักษ์ตัวสีเขียว

ท่านอาจจะเคยเห็นรูปปั้นยักษ์แบบนี้ในหลายวัดหรือตามสถานที่ต่างๆ ดิฉันได้ไปเก็บภาพแล้วเกิดความสงสัยว่ายักษ์ทั้งสองตนนี้มีหน้าที่อะไร แล้วทำไมถึงมาตั้งอยู่ที่วัดทิพย์สุคนธาราม

สอบถามข้อมูลจากคุณพรธิดา สกุลสินเพ็ชร (แป้ง) เจ้าบ้านน้อยจิตอาสาพาชมพุทธอุทยาน ของทางวัดทิพย์สุคนธาราม ก็ได้ทราบว่า ยักษ์ตนสีเขียวมีนามว่า ท้าวสุบรรณคีรี (ทศกัณฐ์) ส่วนยักษ์ตนสีแดงมีนามว่า ท้าวไวยเวศ ยักษ์ทั้งสองตนจะคอยปกปักรักษาวัดทิพย์สุคนธารามจากสิ่งชั่วร้าย ไม่ให้เข้ามาทำลายพระพุทธศาสนา


ที่สำคัญยังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองวัดทิพย์สุคนธารามให้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป


รู้หรือยังวัดทิพย์ฯก็มีทะเลนะ


เรื่องและภาพโดย กลุ่มที่ ๕ นางสาวพรธิดา สกุลสินเพ็ชร นางสาวปวิตรา ชำนาญ นางสาวบุษราคัม พลกลาง นางสาวพัชราภรณ์ ปานเพชร นางสาวชลลดา วงษ์สนิท และนางสาวจันทรัตน์ จันทะบุตร
ผลงานสารคดีดีเด่นประเภทกลุ่มในการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๙ 

นอกจากองค์พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ พระพุทธรูปปางขอฝนที่เป็นไฮไลท์ของวัดทิพย์สุคนธารามแล้ว

ยังมีอ่างเก็บน้ำในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมีทั้งหมด ๓ อ่าง สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งน้ำสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ภายในโครงการ ฯ และยังแจกจ่ายชาวบ้านรอบ ๆ  


แต่อ่างที่เป็นไฮไลท์ที่สุด คืออ่างที่สอง เนื่องจากมีความสวยงามเหมือนทะเลขนาดย่อม ๆ เพราะผืนน้ำสะท้อนกับท้องฟ้าจนเห็นเป็นสีฟ้าคราม 

เป็นจุดสนใจของวัยรุ่นในอำเภอห้วยกระเจาแวะเวียนมาเที่ยวถ่ายภาพกันเสมอ

บริเวณอ่างที่สองยังมี "ต้นแจง" ที่อยู่บนเกาะเล็ก ๆ กลางอ่างนั้นด้วย 

มีเรื่องเล่าว่าระหว่างที่กำลังทำการขุดอ่างเก็บน้ำอยู่นั้น คนงานได้พบงูใหญ่อยู่ตรงต้นเเจงด้วย ต่อมาจึงได้มีการสร้างศาลเพื่อให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯได้สักการะ

เรื่องปาฏิหาริย์อีกเรื่องคือต้นแจงเป็นไม้ยืนต้นที่ไม่ชอบน้ำ แต่เมื่อผันน้ำเข้ามาในอ่างแล้ว ต้นแจงยังยืนต้นอยู่ได้ ชาวบ้านถือว่าคือเรื่องที่น่าอัศจรรย์




Thursday, February 16, 2017

พระผู้ฝากดีไว้กับชาวสระลงเรือ

 ประติมากรรมหลวงพ่อหล่วน ประดิษฐานในมณฑป

พรธิดา สกุลสินเพชร...เรื่องและภาพ
ผลงานรางวัลเนื้อหาสารคดีดีเด่นจากการอบรมเยาวชน YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๙
ตั้งแต่เด็กยันโตฉันจำได้ว่าที่วัดสระลงเรือจะมีงานประจำปีทุกปี
พอถามย่าว่าเป็นงานอะไร ย่าก็บอกว่าเป็นงานประจำปีหลวงพ่อหล่วน แต่ฉันไม่เคยถามต่อ ว่าหลวงพ่อหล่วนเป็นใคร 
มารู้ทีหลัง ว่าหลวงพ่อหล่วน กนฺตสีโล คืออดีตเจ้าอาวาสวัดสระลงเรือ เป็นผู้ที่ทำให้วัดสระลงเรือเริ่มเป็นที่รู้จักในสมัยก่อน ด้วยอุปนิสัยที่ใจดี เคร่งครัดในศีล และเป็นที่เคารพนับถือในบรรดาชาวบ้านสระลงเรือสมัยนั้น เมื่อท่านมรณภาพลง จึงได้มีการสร้างมณฑปและมีรูปเหมือนของท่าน ตั้งอยู่บริเวณหน้ากุฏิของพระสงฆ์
 มณฑปหลวงพ่อหล่วน

ต่อมาได้มีการจัดทำจี้สร้อยคอเป็นรูปของหลวงพ่อหล่วน เพื่อให้ชาวบ้านนำไปบูชา มีการกล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของจี้หลวงพ่อหล่วนสืบต่อกันมา คุณป้าสงวน ปิ่นกุมภีร์ อายุ ๗๕ ปี เล่าว่า ครั้งหนึ่งได้มีนักท่องเที่ยวจากจังหวัดเลยมาเที่ยววัดสระลงเรือ และได้เช่าบูชาจี้หลวงพ่อหล่วนไปเป็นจำนวนหลายองค์ ระหว่างเดินทางกลับเกิดประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่มีใครเป็นอะไรเลย เขาเชื่อว่าเป็นบารมีของหลวงพ่อหล่วนที่ช่วยคุ้มครอง จึงได้กลับมาไหว้และเช่าบูชาจี้ไปอีกหลายองค์
 จี้ห้อยคอหลวงพ่อหล่วน

คุณป้าสงวนเล่าต่ออีกว่า หลวงพ่อหล่วนท่านใจดี ใครเป็นคนดี ขออะไรท่านก็ให้ทั้งนั้น ถ้าอยากเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปอีก ให้ห้อยจี้ทั้งหลวงพ่อหล่วนและหลวงพ่อดำ พระประธานโบราณของวัดสระลงเรือด้วย ท่านจะคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย ถ้าจะบนบานศาลกล่าว ก็ให้บนทั้งสองที่ เพราะบารมีของหลวงพ่อทั้งสองจะช่วยให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันยังคงมีการจัดงานประจำปีขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการทำบุญและระลึกถึงคุณงามความดีหลวงพ่อหล่วนอยู่เสมอ
 ผู้มาเยือนไหว้สักการะรูปหลวงพ่อหล่วน