Monday, December 18, 2017

มุมที่ไม่น่าพลาด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์



เรื่องและภาพโดย กลุ่ม “GanGer” นายณรงค์เดช ถมังรักษ์สัตว์  นางสาวลัทธพรรณ เปรมปรีสุข  นางสาวณภัทร หอยสังข์  นางสาวธนภรณ์ เสริมสินสุข  และนางสาวณิรัชชา คุณาคำ  
ผลงานรางวัลสารคดีประเภทกลุ่มดีเด่นจากโครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๔ ณ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม

ในการร่วมกิจกรรมอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๔  ทางโครงการ ฯ ได้จัดให้มีการลงพื้นที่ถ่ายภาพและเก็บข้อมูลในบริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองนครปฐม

เมื่อลงจากรถโรงเรียน เพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ต่างก็แยกย้ายกันไปตามจุดต่าง ๆ ที่อยู่ไม่ไกล แต่กลุ่มของเราไม่อยากซ้ำกับใคร จึงได้พากันเดินไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ อาคารเล็ก ๆ ทางด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ถึงจะเดินไกลหน่อยแต่ก็คุ้มค่า เพราะด้านในมีแอร์เย็น ๆ เป็นสถานที่หลบร้อนได้ดี และถ้าเป็นนักเรียนในเครื่องแบบอย่างพวกเรา ยังไม่ต้องเสียค่าเข้าชมอีกด้วย


เมื่อเข้าไปด้านในก็จะพบคุณลุงทวีป สิงขรรักษ์ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์มาต้อนรับ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่หลายชิ้นให้พวกเราฟัง

 ที่มีเรื่องราวน่าสนใจก็คือพระพุทธรูปของพระยากงพระยาพาน คุณลุงบอกกล่าวถึงตำนานที่เล่าว่าพระองค์นี้สร้างเป็นตัวแทนของพระยากง (พ่อ)ที่พระยาพาน(ลูก) สร้างขึ้นเพื่อไถ่บาป ที่มาของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพญาพานเกิดมา พญากงผู้เป็นพ่อได้ให้โหรทำนายอนาคตว่าลูกจะเป็นอย่างไร โหรทำนายว่าลูก (พญาพาน) จะฆ่าพ่อ พญากงได้ยินดังนั้นก็เลยสั่งให้ทหารเอาพญาพานไปฆ่าทิ้งเสีย แต่ทหารไม่กล้าฆ่า จึงแค่จับลอยแพไปตามแม่น้ำ จนไปเจอยายแก่คนหนึ่งชื่อยายหอม เก็บเอาพญาพานไปเลี้ยง  

หลายปีต่อมาพญาพานเติบโตขึ้น ได้เป็นใหญ่ที่เมืองราชบุรี ยกทัพไปตีเมืองของพญากงพร้อมกับฆ่าผู้เป็นพ่อตาย ด้วยความไม่รู้จึงคิดจะนำภรรยาของพญาพาน ซึ่งเป็นแม่ของตน มาเป็นภรรยาของตนเองอีกด้วย แต่เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นคือ เมื่อเข้าไปหาแม่ แม่เกิดน้ำนมไหลออกมา จึงไปถามยายหอม ยายหอมจึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น พญาพานโกรธที่ยายหอมไม่บอกก่อน ทำให้ตนฆ่าพ่อ จึงฆ่ายายหอมผู้เลี้ยงดูตนเองไปอีกคน

ต่อมาพญาพานเกิดสำนึกผิด จึงคิดสร้างเจดีย์พระประโทนและพระพุทธรูปเพื่อเป็นการแสดงถึงความเสียใจและไถ่บาปในการฆ่าพ่อและยายหอม ซึ่งเปรียบได้กับแม่บุญธรรม


 เจดีย์จุลประโทนจำลอง คือโบราณวัตถุอีกอย่างที่น่าชม ไม่ใช่แค่เพราะเกี่ยวกับเรื่องราวในตำนาน แต่ยังมีฐานะเป็นโบราณสถานสมัยทวารวดีที่สำคัญ เชื่อกันว่าสถานที่ตั้งเจดีย์องค์นี้ คือบริเวณกลางเมืองนครปฐมโบราณ ที่เจริญขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐสอดิน มีรูปประติมากรรมปูนปั้นประดับเจดีย์สวยงาม รูปภาพประดับบนฐานประทักษิณแบ่งออกเป็นช่อง  ๆ ตกแต่งด้วยภาชนะดินเผาและปูนปั้น เล่าเรื่องนิทานชาดก

สุดทางเดินเราจะพบกับธรรมจักรศิลา ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คุณลุงทวีปบอกว่าในสมัยแรกธรรมจักรใช้แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เปรียบเหมือนผู้หมุนกงล้อแห่งธรรมให้เคลื่อนที่ไป  พุทธศิลปะในยุคแรกของอินเดียใช้สัญลักษณ์ต่างๆแทนพระพุทธองค์เพื่อเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติโดยธรรมจักรใช้เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ตอนพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นในภายหลัง


เดินชมจนทั่วก็พอดีได้เวลานัดหมาย เดินกลับออกมารวมกลุ่มหน้าประตูวัด เตรียมกลับไปที่โรงเรียน กลุ่มพวกเราอดไม่ได้ที่จะแอบยิ้มให้กัน เมื่อเห็นเพื่อน ๆ กลุ่มอื่น ไปเดินถ่ายภาพกันมาร้อนหน้ามัน เหงื่อท่วมตัว แต่กลุ่มของเรายังสดชื่นเย็นสบาย เพราะไปเที่ยวในห้องแอร์มา แถมยังได้รู้เรื่องราวที่น่าประทับใจอีกเยอะแยะด้วย


No comments:

Post a Comment