Monday, July 24, 2017

ลืมใครไปหรือเปล่า




ธนดล จรรยา...เรื่องและภาพ
รางวัลเนื้อหาดีเด่นจากโครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๓ โรงเรียงสอาดเผดิมวิทยา จังหวัดชุมพร

 ศาลาของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า บรรยากาศเงียบเหงา มีเพียงกลิ่นธูปจาง ๆ และก้านธูปสีแดงเก่า ๆ ซึ่งคนมาจุดไว้นานแล้วปักอยู่ในกระถาง   

ทั้งที่ศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหลังของตำหนักกรมหลวงชุมพรหรือ “เสด็จเตี่ย” ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย อบอวลด้วยกลิ่นธูป  ครึกครื้นไปด้วยเสียงเซ็งแซ่

ทำไมบรรยากาศของสถานที่สองแห่งถึงได้แตกต่างกันถึงขนาดนี้

หลายคนที่มาเที่ยวหาดทรายรี มักจะมาแวะกราบไหว้เสด็จเตี่ย แล้วก็เดินทางไปที่อื่น ๆ ต่อ โดยลืมไปว่าใกล้กันกับตำหนักกรมหลวงชุมพรฯ ยังมีศาลของ “หลวงปู่ศุข” วัดปากคลองมะขามเฒ่าตั้งอยู่


จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าหลวงปู่ศุขนั้นเป็นอาจารย์ของเสด็จเตี่ย ตลอดชีวิตของหลวงปู่ศุขมีลูกศิษย์มากมาย แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ศิษย์เอก" คือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ไม่ใช่เพราะเสด็จเตี่ยมีเชื้อสายเจ้าหรือเป็นพระโอรสของรัชกาลที่ ๕ แต่ที่นับว่าเป็นศิษย์เอก ก็เพราะว่าศิษย์คนนี้ รักและเคารพอาจารย์อย่างยอมตายถวายชีวิต

บันทึกจากคนเฒ่าคนแก่ยืนยันว่าเสด็จเตี่ย ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจากหลวงปู่ศุขไว้มากที่สุดเหนือกว่าศิษย์คนใด ทั้งยังมีความผูกผันกันอย่างลึกซึ้งดุจพ่อลูก  ครั้งเสด็จเตี่ยสิ้นพระชนม์ เมื่อหลวงปู่ศุขได้รับทราบข่าว ท่านก็ถึงกับนั่งซึม และเป็นเช่นนั้นนานมาก จนในที่สุดหลวงปู่ศุขได้มรณภาพลงด้วยโรคชราในปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๖ อันเป็นปีเดียวกับที่เสด็จเตี่ยสิ้นพระชนม์


เสด็จเตี่ยได้ถวายเรือให้หลวงปู่ศุขใช้ในการบิณฑบาต มีความยาว ๘ ศอก โดยสั่งต่อเป็นพิเศษ ทำด้วยไม้ชิ้นเล็ก ๆ อัดด้วยตะปูทองแดงทั้งลำ เรือลำนี้ไม่ต้องใช้ชันยาก็ไม่รั่ว นอกจากนี้ตรงกลางลำเรือยังมีพนักพิงสวยงาม มีพนักทำโปร่ง สามารถถอดออกจากเรือได้ ทำเป็น ๓ ชิ้น เวลาไม่ใช้ก็พับได้ เวลาที่หลวงปู่ศุขท่านนั่งเรือออกบิณฑบาต ท่านจะนั่งตรงกลาง มีลูกศิษย์พายหัวพายท้าย หลังจากที่หลวงปู่ได้มรณภาพลง เรือลำนี้ยังคงใช้ได้อยู่จนถึงสมัยสมุหทองหล่อ ทัศมาลี จากนั้นได้นำมาเก็บไว้ที่หอประชุมทางด้านเหนือของบริเวณวัดปากคลองมะขามเฒ่า เพราะเป็นหน้าแล้ง และไม่ได้นำมาใช้อีกเลย

มีเรื่องเล่าบอกต่อ ๆ กันมาว่าเสด็จเตี่ย ทรงโปรดการใช้วิถีชีวิตกลางแจ้ง ท่านจะวัดปากคลองมะขามเฒ่าบ่อย ๆ ส่วนใหญ่แล้วพระองค์จะเสด็จมาทางเรือ บางครั้งก็มีเรือติดตามมาด้วยหลายลำ ในการเสด็จมาของพระองค์นั้น บางครั้งจะทรงนำหม่อมและโอรสมาด้วย  มีหลักฐานเป็นลายพระหัตถ์ในสมุดเซ็นเยี่ยมของวัด  

บางครั้งกรมหลวงชุมพรฯ จะทรงคุยกับหลวงปู่ศุขจนถึงดึกดื่น บางครั้งจะประทับที่วัดปากคลองมะขามเฒ่าอยู่เป็นเดือน ๆ ซึ่งนอกจากจะมาศึกษาวิชาไสยศาสตร์แล้ว พระองค์ยังถือโอกาสพักผ่อนพระวรกายและยังได้คลุกคลีกับราษฎร

จากเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ย่อมแสดงว่าหลวงปู่ศุขเป็นผู้ที่เสด็จเตี่ยรักและเคารพเป็นอย่างมาก


เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากให้ทุกคนที่มายังหาดทรายรี มากราบไหว้เพียงแค่เสด็จเตี่ยเท่านั้น แต่อยากให้ทุกคนนึกถึงศาลาหลวงปู่ศุขที่ตั้งอยู่ทางด้านหลังของตำหนักของเสด็จเตี่ยด้วย


No comments:

Post a Comment