Thursday, March 14, 2019

Youth Bloggers รุ่นที่ ๒๒ (YB Special)





อนุสาร อ.ส.ท. ร่วมกับ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน จัด “โครงการอบรมประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านสื่อโซเชียลออนไลน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน” ขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงแรมเทวราช อำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน 


ในการนี้มีนางดาราวรรณ ยะราช   หัวหน้าฝ่ายพัฒนาสังคมและส่งเสริมการท่องเที่ยว นายอธิเดช มีชำนาญ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการอบรม โดยในครั้งนี้ถือเป็น “YOUTH BLOGGERS SPECIAL เนื่องจากเป็นการจัดอบรมให้กับบุคคลากรทางด้านการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวจากแต่ละท้องถิ่นในจังหวัดน่าน เข้าร่วมโครงการ ฯ  รวมทั้งสิ้น ๕๐ คน

ในวันแรกช่วงเช้าเป็นการอบรมภาคทฤษฏี โดยนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. ทำหน้าที่วิทยากร บรรยายเรื่องเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ของอนุสาร อ.ส.ท. และการสร้างคอนเทนต์เพื่อเผยแพร่ทางสื่อโซเชี่ยลในมาตรฐานเดียวกันกับของอนุสาร อ.ส.ท.  ประกอบด้วยเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล การเรียบเรียงเนื้อหาเป็นสารคดีสั้น และการถ่ายภาพแหล่งท่องเที่ยวให้ดูน่าสนใจเพื่อใช้ประกอบสารคดีท่องเที่ยว


 ในช่วงบ่ายจะลงฝึกปฏิบัติภาคสนามเก็บข้อมูล และถ่ายภาพประกอบสำหรับจัดทำสารคดีสั้น  โดยเดินทางลงพื้นที่ ณ วัดศรีมงคล อำเภอท่าวังผา ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียง ภายในบริเวณวัดได้จัดการสถานที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมได้ถ่ายภาพ รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ในอดีตจัดแสดงไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าสนใจ เพื่อฝึกเก็บข้อมูลและถ่ายภาพแหล่งท่องเที่ยว  นำมาสร้างสรรค์ นำเสนอเป็นสารคดีสั้นประกอบภาพถ่าย เพื่อใช้เป็นคอนเทนท์เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์



ในวันที่สองผู้เข้าอบรมฝึกเชิงปฏิบัติการเขียนสารคดีสั้น พร้อมคัดเลือกภาพถ่าย จากสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่ของตนเองจัดทำเป็นสารคดีท่องเที่ยวขนาดสั้น พร้อมนำเสนอถึงกระบวนการในการคิดสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งผู้เข้าอบรมแต่ละคนต่างก็ใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ทั้งเนื้อหาและภาพถ่ายกันอย่างเต็มที่ แสดงถึงความพร้อมในการทำหน้าที่เครือข่ายด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่น ที่จะนำเอาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ  ในพื้นที่ของตนเอง ออกมาร่วมนำเสนอผ่านทางเครือข่ายชุมชนออนไลน์ของอนุสาร อ.ส.ท. ต่อไป   



หลังจากการวิจารณ์ผลงานโดยวิทยากรเพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงผลงานให้สมบูรณ์ในโอกาสต่อไปแล้วก็เป็นพิธีมอบประกาศนียบัตร โดยมีนายบุญเพียร ยาวิไชย หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการอบรม พร้อมทั้งกล่าวปิดการอบรมด้วย


ร่วมสนุกส่งภาพถ่ายและบอกเล่าเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้านเข้าประกวด ชิงรางวัลกล้องคอมแพ็กต์มูลค่า ๓,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร และเสื้อยืด YOUTH BLOGGERS เป็นประจำทุกเดือน โดยดูรายละเอียดการส่งผลงานเข้าประกวด และชมภาพถ่ายกิจกรรมและผลงานของเยาวชน YOUTH BLOGGERS ได้ที่ อนุสาร อ.ส.ท. ในคอลัมน์ “เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” เป็นประจำทุกเดือน และทางออนไลน์ที่กลุ่ม www.facebook.com/groups/osothoYB และที่แฟนเพจ www.facebook.com/youthbloggers

Monday, March 11, 2019

ฟาร์มสุขหนองน้ำครก


ราตรี ภูฝาง...เรื่อง Youth Bloggersภาพ

"ม่วงตึ๊ดหัวเรือพญานาคหางหงส์ ชื่อเสียงโด่งโคมหม่าเต้า ฟังเรื่องเล่าหนองน้ำครก ชมนก อนุรักษ์พันธุ์ปลา มานั่งวัวเทียมเกวียน ฟั่นเทียนสะเดาะเคราะห์ " คือคำขวัญของบ้านม่วงติ๊ด

หนองน้ำครกคือหนึ่งในคำขวัญ เป็นแนวของน้ำน่านในสมัยก่อน ในอดีตน้ำน่านจะเป็นแนวตรงมาจากใต้ป่าช้าบ้านแสงดาว ในตำนานเล่าว่าประมาณพุทธศักราช ๑๙๐๒ พระยาการเมือง เจ้าเมืองน่าน ได้อพยพผู้คนข้าราชบริพารจากวรนคร มาหยุดพักขบวนแพที่บริเวณหนองน้ำครก แล้วทรงดำริว่าจะไปสร้างเมืองใหม่ที่เมืองภูเพียงแช่แห้ง


เดิมบ้านม่วงตึ๊ด ตั้งอยู่บ้านดอนร้องแหด ริมหนองน้ำครก ซึ่งมีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้าน เรียก “หมู่บ้าน
น้ำโปรด (พัง )”  ส่วนวัดม่วงตึ๊ดอยู่บริเวณทุ่งนาในปัจจุบัน เมื่อเกิดการกัดเซาะชาวบ้านจึงอพยพมาอยู่ที่ดอนที่เป็นป่าละเมาะ ภาษาเหนือเรียกว่า “ตึ๊ด” เลยได้ชื่อ “บ้านม่วงตึ๊ด”

บริเวณที่เป็นโรงเรียนในปัจจุบันเป็นหนองน้ำ ชาวบ้านมักนำเอาช้างมาอาบน้ำและดื่มกินกัน จึงเรียกว่า ”หนองช้าง” และด้านหลังโรงเรียนปัจจุบันเรียกว่า “บ้านหล่ายหนอง” ตอนหลังหนองน้ำตื้นเขินเพราะน้ำท่วม แนวน้ำน่านเก่าเปลี่ยนทิศไหลวกกลับออกทางบ้านศรีบุญเรือง ไหลอ้อมไปทางบ้านท่าลี่ บ้านพวงพะยอม พุ่งตรงผ่านบ้านพญาวัดและบ้านเจดีย์


ต่อมาเจ้าผู้ครองนครน่านในสมัยใดไม่ปรากฏ ได้ทำการขุดลอกแนวน้ำลัดตั้งแต่แนวบ้านพญาภู ลัดเลาะมาถึงบ้านศรีบุญเรืองเป็นแนวแม่น้ำน่านใหม่ ส่วนแนวแม่น้ำเดิมบางส่วนก็ตื้นเขิน บางส่วนก็เป็นหนองน้ำครกในปัจจุบัน สาเหตุที่เรียก “ หนองน้ำครก ” เพราะ ลักษณะเหมือนครกนั้นเอง




 ทางราชการได้ทำการขุดลอกพัฒนาหนองน้ำครกที่เคยเป็นแนวน้ำเก่าเป็นแก้มลิงไว้เก็บกักน้ำไว้ใช้ในการดำรงชีวิตของชุมชนม่วงตึ๊ดและใกล้เคียง  โดยล่าสุดองค์การบริหารและพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้ให้งบประมาณมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว แปลงปลูกดอกไม้นานาชนิดหลากสีสัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดน่านแห่งใหม่


Thursday, February 28, 2019

ลาบ"ดงหอ" สู่อาหารวิถี “ลาบหมูหมี่น้ำมวบ"

ดงหอ. สถานที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อช้างงาแดง


ธัญวรัตม์ ขัดแก้ว ...เรื่องและภาพ
ผลงานผู้เข้าร่วมอบรมการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านสื่อโซเชียล YB Special (YB#22) จังหวัดน่าน

ตั้งแต่จำความได้ "ดงหอ" คือสถานที่ทุกคนภายในชุมชนต้องรู้จัก เพราะเป็นสถานที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของตำบลน้ำมวบและตำบลส้านนาหนองใหม่ นั่นก็คือศาลเจ้าพ่อช้างงาแดงอันเป็นที่เคารพสักการะ เป็นที่พึ่ง เป็นขวัญ และกำลังใจ ทั้งในยามทุกข์หรือสุข

เมื่อเข้ามาในบริเวณศาลจะสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ ร่มเย็นและเงียบสงบ ที่นี่จะมีทั้งพิธีแก้บนประจำปี หรือพิธีแก้บนในยามที่บนบานขออะไรไว้แล้วสำเร็จตามที่ขอ บางคนบนหมู บางคนบนไก่ บางคนบนเงิน 

แต่ดูเหมือนว่าหมู คือเครื่องเซ่นไหว้แก้บนที่นิยมกันมากที่สุด การนำหมูมาแก้บนต้องนำหมูตัวเป็น ๆ มาฆ่า แล้วชำแหละภายในบริเวณที่จัดเตรียมไว้บริเวณเขตศาล (นั่นคือสาเหตุที่ฉันไม่ค่อยอยากมาดู เพราะสงสารหมู)

ลาบดิบผสมเลือดหมูสดๆกับเครื่องปรุง โดยมีตัวชูโรงคือมะแขว่นเครื่องเทศที่มีกลิ่นรสฉุนจมูกเพื่อดับกลิ่นคาว
ชาวบ้านเรียกลาบดงหอ

              และนี่จึงเป็นที่มาของคำว่า "ลาบดงหอ" และ “ลาบหมูหมี่”

ลาบดงหอคือการนำเนื้อหมูดิบ ๆ สด ๆ ที่ชำแหละ นำมาสับแต่ไม่ค่อยละเอียดมาก แล้วผสมกับเลือดสด ๆ  ใส่เครื่องปรุง เครื่องเทศ ดับกลิ่นคาว โดยมีน้ำซุปน้ำอ่อมและผักเป็นกับแกล้ม

แล้วลาบหมูหมี่ล่ะ เป็นแบบไหน ใส่เส้นหมี่ลงไปในลาบด้วยหรืออย่างไร บางคนสงสัย


“หมี่” เป็นภาษาท้องถิ่น แปลว่านำมาทอดหรือผัดให้หอมกรอบ แล้วนำมาคลุกเคล้ากับหมูสับละเอียด ใส่่เครื่องปรุงปรุงรสตามชอบ ที่ขาดไม่ได้คือ พระเอกของเรา “มะแขว่น” เครื่องเทศที่มีรสและกลิ่นฉุนจมูกเติมลงไปเพื่อดับกลิ่นคาว ใส่ข้าวคั่ว เพิ่มเปลือกไม้ขูดตำละเอียดเพื่อให้มีปริมาณมากขึ้นได้ แถมเป็นสมุนไพรในตัวด้วย

 รับประทานได้ทั้งแบบลาบดิบและลาบคั่วที่นำมาทำให้สุก รสชาติจะอร่อยคนละแบบ

ลาบหมูหมี่เป็นอาหารวิถีอาหารพื้นบ้านที่มีแต่ดั้งเดิม รสชาติอร่อยกลมกล่อม เข้าถึงประโยชน์ของสมุนไพรพื้นบ้านกับผักปลอดสาร มาบ้านน้ำมวบถ้าไม่ได้ชิมลาบหมูหมี่อาหารวิถี แสดงว่ามาไม่ถึง

ลองมากินมานอนใช้ชีวิตแบบบ้าน ๆ ที่บ้านน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มาลองเรียนรู้และลงมือทำ “ลาบหมูหมี่” ด้วยกัน



Tuesday, January 15, 2019

เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใดเล่า เจ้าคุกเอ๋ย




ภัณฑิรา ดวงใจ...เรื่อง 
รางวัลเนื้อหาดีเด่น YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๒๑ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่
ณภัทร เหมืองทอง...ภาพ 
รางวัลภาพถ่ายดีเด่น YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๒๑ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่


สมัยพ่อนะ ตอนกลางคืนเขาไม่ค่อยมีใครผ่านคุ้มเจ้าหลวงหรอก เขาบอกว่ามักจะได้ยินเสียงประหลาดดังแว่วมาจากคุก

แน่ะ จะมาหลอกให้กลัวอีกแล้ว

นั่นคือภาพจำในช่วงเวลาหนึ่งที่ฉันได้สนทนากับพ่อเกี่ยวกับคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่

ในตอนนั้นฉันคิดว่าพ่อต้องมาแกล้งให้กลัวแน่ๆ เพราะโรงเรียนของฉันก็อยู่ตรงข้ามกับคุ้มเจ้าหลวง เดินผ่านทุกวัน อยู่ที่โรงเรียนจนมืดค่ำ ก็ไม่เคยได้ยินเสียงอะไร

จนวันนี้เอง ฉันได้มีโอกาสมาเที่ยวที่คุ้มเจ้าหลวง เอาล่ะ ไปพิสูจน์คำพูดของพ่อกันดีกว่า


รู้ไหม เขาให้หันหลังเข้านะ เพื่อนสนิทมิตรสหายนาม “น้ำตาล” ได้กล่าวขึ้นในขณะที่ฉันกำลังจะเดินเข้าไปสำรวจภายในคุก

การมาเยี่ยมชมคุกที่ใต้ถุนคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่นั้น มีเคล็ดว่าให้เดินหันหลังเข้าไปในคุก เพราะถือว่าเราจะไม่ได้เดินเข้าแบบนักโทษปกติ  จะได้ไม่ต้องเข้าคุกจริง ๆ   ทีหลัง

เออ ตอนเด็ก ๆ เคยมาที่นี่ พี่มัคคุเทศก์เขาบอกว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแล ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่นะ ถ้าหยิบของมาโดยไม่ได้ขอ เดินหยิบมาหน้าตาเฉย แสดงว่าคนนั้นมีความผูกพันกับสิ่งนั้น มิตรสหายคนเก่าเจ้าเดิมกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเราเดินมาดูบริเวณที่จัดแสดงโซ่ตรวนที่ใช้ล่ามนักโทษ

อื้อหือ ทำไมความเชื่อเกี่ยวกับคุกถึงได้เยอะแยะขนาดนี้นะ ยังมีเรื่องที่ไม่รู้อีกหรือเปล่าเนี่ย” ฉันนึกในใจ มาเที่ยวคราวนี้นอกจากจะมาพิสูจน์คำพูดพ่อแล้ว จะพิสูจน์คำพูดเพื่อนด้วยดีไหม ถ้าไปถามพี่มัคคุเทศก์ พี่เขาจะเล่าเรื่องลากยาวเหยียดไปถึงสุไหงโกลกไหม แต่มาถึงที่นี่ มีโอกาสแล้ว ก็ไปถามพี่เขาสักหน่อยเถอะ


อ๋อ คุกหรอ เมื่อก่อนมันไม่ใช่คุกนะ มันเป็นเหมือนห้องเก็บสมบัติของเจ้าเมืองกับที่อยู่ของทาส ที่เห็นเป็นช่องบนพื้นน่ะ เขาสันนิษฐานว่าเอาไว้ใช้สำหรับให้เจ้าเมืองเปิดเรียกใช้ทาสที่อยู่ชั้นล่าง พี่โจ การุณ ยาโน มัคคุเทศก์จิตอาสา อธิบายให้ฉันฟัง

อ้าว ตกลงมันไม่ใช่คุกหรอกหรือคะ

ตอนแรกน่ะไม่ใช่ แต่พอเกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ ส่งกองทัพขึ้นมาปราบเสร็จแล้วใช่ไหม เขาก็เอาพวกนักโทษมาฝากขังไว้ที่นี่ก่อน แต่แค่ชั่วคราวนะ ประมาณ ๒ สัปดาห์ จากนั้นเขาก็ย้ายไปเรือนจำ แต่ตอนขังอยู่ที่นี่ เขาแบ่งเป็นห้องด้วยนะ จะมี ๓ ห้อง ห้องตรงกลางที่มืด ๆ เขามีไว้สำหรับนักโทษสถานหนัก ไม่ให้ข้าวให้น้ำ  ส่วนสองห้องข้าง ๆ เป็นโทษเบา ยังมีโอกาสได้เห็นเดือนเห็นตะวันบ้าง”  พี่โจอธิบายต่อ

พี่คะ พ่อหนูเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยพ่อ ตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงแปลก ๆ จากคุก มันเป็นเรื่องจริงไหมคะ ฉันเหลือบมองนาฬิกา เห็นว่าใกล้ได้เวลาที่ต้องไปทำธุระแล้ว จึงรีบถามคำถามที่คาใจ และเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันสนใจที่นี่เป็นพิเศษ

น่าจะมี แต่เราน่าจะไม่ทัน เพราะห้องตรงกลางเขาไม่ให้ข้าวให้น้ำไง คงมีตายกันบ้าง แต่คนที่ยังไม่ตายที่เขาย้ายไปน่ะ บางคนก็ไปรอประหาร คำตอบจบลงพร้อมกับเวลาที่หมดไป ฉันกล่าวขอบคุณพี่โจ ก่อนรีบไปทำธุระให้เสร็จ


เป็นอันว่ามาคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่คราวนี้ ฉันได้ข้อสรุปของฉันแล้วล่ะ ว่าพ่อไม่ได้เล่าเรื่องแกล้งหลอกให้กลัว

แต่แล้วก็เกิดคำถามอีกข้อขึ้นมาในใจว่า ครั้งหน้าฉันจะมาเที่ยวอีกดีไหม เพราะว่าชั้นอื่น ๆ ยังไม่ได้ลองขึ้นไปสำรวจเลย




Friday, January 11, 2019

โครงการอบรมเยาวชน YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๒๑ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่


   
อนุสาร อ.ส.ท. ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการอบรมเยาวชน YOUTH BLOGGERS  รุ่นที่ ๒๑ ขึ้น ณ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ อำเภอเมือง ฯ  จังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ ของโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ ฯ  รวมทั้งสิ้น ๕๐ คน โดยในพิธีเปิดการอบรม ดร.กิจผจญ แมตเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ กล่าวต้อนรับ นายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ และนายวิเชียร อนุศาสนนันต์ ปลัดจังหวัดแพร่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดและให้โอวาทเยาวชนที่เข้ารับการอบรม


 ช่วงเช้าของวันแรกเป็นการอบรมภาคทฤษฏี  โดยนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. ทำหน้าที่วิทยากร บรรยายเรื่องเทคนิคการเลือกประเด็นในการนำเสนอ การเก็บข้อมูลภาคสนามเบื้องต้น รวมทั้งเทคนิคการเขียน และการถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยวเบื้องต้น ให้กับเยาวชนที่เข้ารับการอบรม


ช่วงบ่ายเป็นการฝึกปฏิบัติภาคสนาม โดยคณะเยาวชน YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๒๑ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและถ่ายภาพประกอบสำหรับจัดทำสารคดีสั้น ในบริเวณคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ สถาปัตยกรรมเก่าแก่อายุนับร้อยปีที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเมืองแพร่ บุคคลสำคัญ ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม  รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงได้แก่ ศาลหลักเมือง วัดพระบาทมิ่งเมือง และวัดพงษ์สุนันท์  ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่มีความหลากหลาย สำหรับเยาวชนผู้เข้าอบรมได้ผึกปฏิบัติหาข้อมูล ความประทับใจ และภาพถ่าย นำไปเป็นหัวข้อในการสร้างสรรค์ผลงาน



ในวันที่สอง เยาวชนผู้เข้าอบรมฝึกเชิงปฏิบัติการเขียนสารคดีสั้นและคัดเลือกภาพถ่าย บอกเล่าเนื้อหาและภาพความประทับใจจากแหล่งท่องเที่ยวในมุมมองของตนเองที่ไปพบเห็นมา ผ่านทางเครือข่ายชุมชนออนไลน์  พร้อมนำเสนอแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีวิทยากรให้คำวิจารณ์ผลงานแต่ละชิ้น เพื่อเป็นแนวทางนำไปปรับปรุงในโอกาสต่อไป 


ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภายใน Youth Bloggers รุ่นที่  ๒๑ มีดังนี้ รางวัลนำเสนอดีเด่น ได้แก่นายณัฐพงศ์ นันตา จากสารคดีเรื่อง “ล้านนารไพพรรณพิบูลย์ตีนจกผ้าซิ่น” รางวัลเนื้อหาดีเด่น ได้แก่ อชิรญา อุ่นอารมย์ จากสารคดีเรื่อง “อาลัยรัก ณ คุ้มเจ้าหลวง” รางวัลภาพถ่ายดีเด่น ได้แก่ นายณภัทร เหมืองทอง จากสารคดีเรื่อง  “เที่ยวห้องขัง อลังการเว่อร์”  และรางวัลเนื้อหาและภาพถ่ายดีเด่น ได้แก่นางสาวภัณทิรา ดวงใจ จากสารคดีเรื่อง “เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใดเล่า เจ้าคุกเอย” โดยบรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. เป็นผู้มอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดพร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้ารับการอบรม  และนางเฟื่องฟ้า คำตัน  รองผู้อำนวยการโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ ให้เกียรติร่วมในพิธีมอบรางวัลและประกาศนียบัตร และกล่าวปิดการอบรม



 ร่วมสนุกส่งภาพถ่ายและบอกเล่าเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้านเข้าประกวด ชิงรางวัลกล้องคอมแพ็กต์มูลค่า ๓,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร และเสื้อยืด YOUTH BLOGGERS เป็นประจำทุกเดือน โดยดูรายละเอียดการส่งผลงานเข้าประกวด และชมภาพถ่ายกิจกรรมและผลงานของเยาวชน YOUTH BLOGGERS ได้ที่ อนุสาร อ.ส.ท. ในคอลัมน์ “เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” เป็นประจำทุกเดือน และทางออนไลน์ที่กลุ่ม www.facebook.com/groups/osothoYB และที่แฟนเพจ www.facebook.com/youthbloggers