Tuesday, January 15, 2019

เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใดเล่า เจ้าคุกเอ๋ย




ภัณฑิรา ดวงใจ...เรื่อง 
รางวัลเนื้อหาดีเด่น YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๒๑ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่
ณภัทร เหมืองทอง...ภาพ 
รางวัลภาพถ่ายดีเด่น YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๒๑ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่


สมัยพ่อนะ ตอนกลางคืนเขาไม่ค่อยมีใครผ่านคุ้มเจ้าหลวงหรอก เขาบอกว่ามักจะได้ยินเสียงประหลาดดังแว่วมาจากคุก

แน่ะ จะมาหลอกให้กลัวอีกแล้ว

นั่นคือภาพจำในช่วงเวลาหนึ่งที่ฉันได้สนทนากับพ่อเกี่ยวกับคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่

ในตอนนั้นฉันคิดว่าพ่อต้องมาแกล้งให้กลัวแน่ๆ เพราะโรงเรียนของฉันก็อยู่ตรงข้ามกับคุ้มเจ้าหลวง เดินผ่านทุกวัน อยู่ที่โรงเรียนจนมืดค่ำ ก็ไม่เคยได้ยินเสียงอะไร

จนวันนี้เอง ฉันได้มีโอกาสมาเที่ยวที่คุ้มเจ้าหลวง เอาล่ะ ไปพิสูจน์คำพูดของพ่อกันดีกว่า


รู้ไหม เขาให้หันหลังเข้านะ เพื่อนสนิทมิตรสหายนาม “น้ำตาล” ได้กล่าวขึ้นในขณะที่ฉันกำลังจะเดินเข้าไปสำรวจภายในคุก

การมาเยี่ยมชมคุกที่ใต้ถุนคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่นั้น มีเคล็ดว่าให้เดินหันหลังเข้าไปในคุก เพราะถือว่าเราจะไม่ได้เดินเข้าแบบนักโทษปกติ  จะได้ไม่ต้องเข้าคุกจริง ๆ   ทีหลัง

เออ ตอนเด็ก ๆ เคยมาที่นี่ พี่มัคคุเทศก์เขาบอกว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแล ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่นะ ถ้าหยิบของมาโดยไม่ได้ขอ เดินหยิบมาหน้าตาเฉย แสดงว่าคนนั้นมีความผูกพันกับสิ่งนั้น มิตรสหายคนเก่าเจ้าเดิมกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเราเดินมาดูบริเวณที่จัดแสดงโซ่ตรวนที่ใช้ล่ามนักโทษ

อื้อหือ ทำไมความเชื่อเกี่ยวกับคุกถึงได้เยอะแยะขนาดนี้นะ ยังมีเรื่องที่ไม่รู้อีกหรือเปล่าเนี่ย” ฉันนึกในใจ มาเที่ยวคราวนี้นอกจากจะมาพิสูจน์คำพูดพ่อแล้ว จะพิสูจน์คำพูดเพื่อนด้วยดีไหม ถ้าไปถามพี่มัคคุเทศก์ พี่เขาจะเล่าเรื่องลากยาวเหยียดไปถึงสุไหงโกลกไหม แต่มาถึงที่นี่ มีโอกาสแล้ว ก็ไปถามพี่เขาสักหน่อยเถอะ


อ๋อ คุกหรอ เมื่อก่อนมันไม่ใช่คุกนะ มันเป็นเหมือนห้องเก็บสมบัติของเจ้าเมืองกับที่อยู่ของทาส ที่เห็นเป็นช่องบนพื้นน่ะ เขาสันนิษฐานว่าเอาไว้ใช้สำหรับให้เจ้าเมืองเปิดเรียกใช้ทาสที่อยู่ชั้นล่าง พี่โจ การุณ ยาโน มัคคุเทศก์จิตอาสา อธิบายให้ฉันฟัง

อ้าว ตกลงมันไม่ใช่คุกหรอกหรือคะ

ตอนแรกน่ะไม่ใช่ แต่พอเกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ ส่งกองทัพขึ้นมาปราบเสร็จแล้วใช่ไหม เขาก็เอาพวกนักโทษมาฝากขังไว้ที่นี่ก่อน แต่แค่ชั่วคราวนะ ประมาณ ๒ สัปดาห์ จากนั้นเขาก็ย้ายไปเรือนจำ แต่ตอนขังอยู่ที่นี่ เขาแบ่งเป็นห้องด้วยนะ จะมี ๓ ห้อง ห้องตรงกลางที่มืด ๆ เขามีไว้สำหรับนักโทษสถานหนัก ไม่ให้ข้าวให้น้ำ  ส่วนสองห้องข้าง ๆ เป็นโทษเบา ยังมีโอกาสได้เห็นเดือนเห็นตะวันบ้าง”  พี่โจอธิบายต่อ

พี่คะ พ่อหนูเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยพ่อ ตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงแปลก ๆ จากคุก มันเป็นเรื่องจริงไหมคะ ฉันเหลือบมองนาฬิกา เห็นว่าใกล้ได้เวลาที่ต้องไปทำธุระแล้ว จึงรีบถามคำถามที่คาใจ และเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันสนใจที่นี่เป็นพิเศษ

น่าจะมี แต่เราน่าจะไม่ทัน เพราะห้องตรงกลางเขาไม่ให้ข้าวให้น้ำไง คงมีตายกันบ้าง แต่คนที่ยังไม่ตายที่เขาย้ายไปน่ะ บางคนก็ไปรอประหาร คำตอบจบลงพร้อมกับเวลาที่หมดไป ฉันกล่าวขอบคุณพี่โจ ก่อนรีบไปทำธุระให้เสร็จ


เป็นอันว่ามาคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่คราวนี้ ฉันได้ข้อสรุปของฉันแล้วล่ะ ว่าพ่อไม่ได้เล่าเรื่องแกล้งหลอกให้กลัว

แต่แล้วก็เกิดคำถามอีกข้อขึ้นมาในใจว่า ครั้งหน้าฉันจะมาเที่ยวอีกดีไหม เพราะว่าชั้นอื่น ๆ ยังไม่ได้ลองขึ้นไปสำรวจเลย




Friday, January 11, 2019

โครงการอบรมเยาวชน YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๒๑ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่


   
อนุสาร อ.ส.ท. ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการอบรมเยาวชน YOUTH BLOGGERS  รุ่นที่ ๒๑ ขึ้น ณ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ อำเภอเมือง ฯ  จังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ ของโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ ฯ  รวมทั้งสิ้น ๕๐ คน โดยในพิธีเปิดการอบรม ดร.กิจผจญ แมตเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ กล่าวต้อนรับ นายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ และนายวิเชียร อนุศาสนนันต์ ปลัดจังหวัดแพร่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดและให้โอวาทเยาวชนที่เข้ารับการอบรม


 ช่วงเช้าของวันแรกเป็นการอบรมภาคทฤษฏี  โดยนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. ทำหน้าที่วิทยากร บรรยายเรื่องเทคนิคการเลือกประเด็นในการนำเสนอ การเก็บข้อมูลภาคสนามเบื้องต้น รวมทั้งเทคนิคการเขียน และการถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยวเบื้องต้น ให้กับเยาวชนที่เข้ารับการอบรม


ช่วงบ่ายเป็นการฝึกปฏิบัติภาคสนาม โดยคณะเยาวชน YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๒๑ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและถ่ายภาพประกอบสำหรับจัดทำสารคดีสั้น ในบริเวณคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ สถาปัตยกรรมเก่าแก่อายุนับร้อยปีที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเมืองแพร่ บุคคลสำคัญ ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม  รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงได้แก่ ศาลหลักเมือง วัดพระบาทมิ่งเมือง และวัดพงษ์สุนันท์  ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่มีความหลากหลาย สำหรับเยาวชนผู้เข้าอบรมได้ผึกปฏิบัติหาข้อมูล ความประทับใจ และภาพถ่าย นำไปเป็นหัวข้อในการสร้างสรรค์ผลงาน



ในวันที่สอง เยาวชนผู้เข้าอบรมฝึกเชิงปฏิบัติการเขียนสารคดีสั้นและคัดเลือกภาพถ่าย บอกเล่าเนื้อหาและภาพความประทับใจจากแหล่งท่องเที่ยวในมุมมองของตนเองที่ไปพบเห็นมา ผ่านทางเครือข่ายชุมชนออนไลน์  พร้อมนำเสนอแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีวิทยากรให้คำวิจารณ์ผลงานแต่ละชิ้น เพื่อเป็นแนวทางนำไปปรับปรุงในโอกาสต่อไป 


ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภายใน Youth Bloggers รุ่นที่  ๒๑ มีดังนี้ รางวัลนำเสนอดีเด่น ได้แก่นายณัฐพงศ์ นันตา จากสารคดีเรื่อง “ล้านนารไพพรรณพิบูลย์ตีนจกผ้าซิ่น” รางวัลเนื้อหาดีเด่น ได้แก่ อชิรญา อุ่นอารมย์ จากสารคดีเรื่อง “อาลัยรัก ณ คุ้มเจ้าหลวง” รางวัลภาพถ่ายดีเด่น ได้แก่ นายณภัทร เหมืองทอง จากสารคดีเรื่อง  “เที่ยวห้องขัง อลังการเว่อร์”  และรางวัลเนื้อหาและภาพถ่ายดีเด่น ได้แก่นางสาวภัณทิรา ดวงใจ จากสารคดีเรื่อง “เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใดเล่า เจ้าคุกเอย” โดยบรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. เป็นผู้มอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดพร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้ารับการอบรม  และนางเฟื่องฟ้า คำตัน  รองผู้อำนวยการโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ ให้เกียรติร่วมในพิธีมอบรางวัลและประกาศนียบัตร และกล่าวปิดการอบรม



 ร่วมสนุกส่งภาพถ่ายและบอกเล่าเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้านเข้าประกวด ชิงรางวัลกล้องคอมแพ็กต์มูลค่า ๓,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร และเสื้อยืด YOUTH BLOGGERS เป็นประจำทุกเดือน โดยดูรายละเอียดการส่งผลงานเข้าประกวด และชมภาพถ่ายกิจกรรมและผลงานของเยาวชน YOUTH BLOGGERS ได้ที่ อนุสาร อ.ส.ท. ในคอลัมน์ “เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” เป็นประจำทุกเดือน และทางออนไลน์ที่กลุ่ม www.facebook.com/groups/osothoYB และที่แฟนเพจ www.facebook.com/youthbloggers