โฉมหน้าของเหราแบบชัด ๆ |
นพรัตน์ จิโน... เรื่องและภาพ
ผลงานสารคดีสั้นจากผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการ YB Special # 1
วันนี้พวกเราแก๊งค์
“หนุ่มสาวน่านเนิบ ๆ” ตั้งใจเป็นอย่างมากที่ จะเดิน “เล๊อะวัดแวดวา”
ในเมืองน่านให้ทั่ว เพราะได้ยินได้ฟังมานานแล้วว่า “น่าน” เป็นจังหวัดที่มี “วัด”
ซึ่งเป็นแหล่งท่องที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก
ไม่เป็นว่าจะเป็น
“วัดภูมินทร์” ที่มีจิตรกรรมฝาผนังภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งกลายเป็นภาพ
“กระซิบรักบันลือโลก” เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่านที่ผู้คนนึกถึงกันทั่วไป
“วัดพระธาตุเขาน้อย”
จุดวิวพอยด์ที่สามารถมองเห็นภาพมุมสูงของตัวเมืองน่านได้อย่างสวยงาม
“วัดพระธาตุแช่แห้ง” วัดประจำคนที่เกิดปีเถาะหรือปีกระต่ายที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องมากราบไหว้สักการะบูชาให้ได้
วัดมิ่งเมือง ที่ตั้งศาลหลักเมือง |
“วัดมิ่งเมือง” วัดนี้เองที่พวกเราหนุ่มสาวน่านเนิบ ๆ
ตั้งใจจะเริ่มเดินเที่ยววัดแบบเนิบ ๆเป็นวัดแรกเพราะวัดมิ่งเมืองนี้เป็นวัดที่อยู่ใจกลางเมือง
มีสถาปัตยกรรมโบสถ์วิหารเป็นสีเงิน งดงามชวนตื่นตายิ่งนัก
จากการสังเกตรูปปั้นต่าง
ๆ ในวัดนี้มี “สัตว์ประหลาด” อยู่ตัวหนึ่งที่ชวนให้สงสัยว่าทำไมมันต้อง “คาย”
รูปปั้นพญานาคตัวใหญ่สองฝั่งบันไดทางขึ้น หรือคายรูปปั้นเทวดา ยักษ์
หรือรูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ ด้วย
จากสอบผู้เฒ่าผู้แก่และพระในวัด
ทำให้ทราบว่าเจ้าตัวประหลาดนี้ชื่อว่าตัว “เหรา” หรือ “มกร”
เหราคายเทวดาและอมนุษย์ |
แต่ก่อนจะไปรู้จักกับเจ้าตัวประหลาดนี้
พระท่านและผู้เฒ่าในวัดมิ่งเมืองได้เมตตาเล่าเรื่องของวัดมิ่งเมืองนี้ว่าสร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถะวรปัญโญ
เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๕๗ ได้โปรดให้ฝังเสาหลักเมือง ณ วัดมิ่งเมืองแห่งนี้ เมื่อปี
๒๓๓๓ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสำหรับการตั้งบ้านเมืองจนเป็น “เมืองน่าน” และ
“จังหวัดน่าน” ในทุกวันนี้
เสาหลักเมืองน่าน |
แต่เดิม
“เสาหลักเมืองน่าน” เป็นเสาไม้สักทองทรงกลมขนาดใหญ่สูงประมาณ ๓ เมตร
หัวเสาเป็นรูปดอกบัวตูม
ในปีพ.ศ.
๒๕๐๖ เกิดน้ำท่วมใหญ่ กระแสน้ำจากแม่น้ำน่านได้ไหลเข้าท่วมถึงตัวเสาหลักเมือง ทำให้เสาหลักเมืองโค่นล้มลง
เพราะรากเสาผุกร่อนมาก เนื่องจากฝังดินมานานกว่าร้อยปี
จนกระทั่งในปี
พ.ศ. ๒๕๑๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในขณะนั้น
จึงได้นำข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมกันสร้างเสาหลักเมืองน่าน พร้อมสร้างศาลครอบเสาหลักเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยอาราธนาหลวงปู่โง่น จากจังหวัดพิจิตร มาเป็นช่างในการสร้างเสาหลักเมืองนี้
โดยนำเสาหลักเมืองน่านต้นเดิมมาเกลาแต่งใหม่ แล้วสลักหัวเสา
เป็นพรหมสี่หน้าจนเป็นเสาหลักเมืองมาจนทุกวันนี้
เหราคายพญานาคสามเศียร |
กลับมาที่เจ้าตัวประหลาด
“เหรา” หรือ “มกร” เป็นสัตว์ในความเชื่อของพม่าและล้านนา ว่าเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของความไม่รู้หรืออวิชชา
ส่วนที่คายนาค หรือเทวดา หรือสัตว์ที่บำเพ็ญบุญออกมา นั้นก็เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการก้าวเข้าสู่วิชา
ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้กับผู้ที่มาวัด
เข้าโบสถ์ ว่าเรามาเพื่อบำเพ็ญบุญกุศล เพื่อกำจัด “อวิชชา” หรือ “ความไม่รู้”ของเรานั่นเอง.
No comments:
Post a Comment