Monday, December 18, 2017

มุมที่ไม่น่าพลาด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์



เรื่องและภาพโดย กลุ่ม “GanGer” นายณรงค์เดช ถมังรักษ์สัตว์  นางสาวลัทธพรรณ เปรมปรีสุข  นางสาวณภัทร หอยสังข์  นางสาวธนภรณ์ เสริมสินสุข  และนางสาวณิรัชชา คุณาคำ  
ผลงานรางวัลสารคดีประเภทกลุ่มดีเด่นจากโครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๔ ณ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม

ในการร่วมกิจกรรมอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๔  ทางโครงการ ฯ ได้จัดให้มีการลงพื้นที่ถ่ายภาพและเก็บข้อมูลในบริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองนครปฐม

เมื่อลงจากรถโรงเรียน เพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ต่างก็แยกย้ายกันไปตามจุดต่าง ๆ ที่อยู่ไม่ไกล แต่กลุ่มของเราไม่อยากซ้ำกับใคร จึงได้พากันเดินไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ อาคารเล็ก ๆ ทางด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ถึงจะเดินไกลหน่อยแต่ก็คุ้มค่า เพราะด้านในมีแอร์เย็น ๆ เป็นสถานที่หลบร้อนได้ดี และถ้าเป็นนักเรียนในเครื่องแบบอย่างพวกเรา ยังไม่ต้องเสียค่าเข้าชมอีกด้วย


เมื่อเข้าไปด้านในก็จะพบคุณลุงทวีป สิงขรรักษ์ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์มาต้อนรับ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่หลายชิ้นให้พวกเราฟัง

 ที่มีเรื่องราวน่าสนใจก็คือพระพุทธรูปของพระยากงพระยาพาน คุณลุงบอกกล่าวถึงตำนานที่เล่าว่าพระองค์นี้สร้างเป็นตัวแทนของพระยากง (พ่อ)ที่พระยาพาน(ลูก) สร้างขึ้นเพื่อไถ่บาป ที่มาของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพญาพานเกิดมา พญากงผู้เป็นพ่อได้ให้โหรทำนายอนาคตว่าลูกจะเป็นอย่างไร โหรทำนายว่าลูก (พญาพาน) จะฆ่าพ่อ พญากงได้ยินดังนั้นก็เลยสั่งให้ทหารเอาพญาพานไปฆ่าทิ้งเสีย แต่ทหารไม่กล้าฆ่า จึงแค่จับลอยแพไปตามแม่น้ำ จนไปเจอยายแก่คนหนึ่งชื่อยายหอม เก็บเอาพญาพานไปเลี้ยง  

หลายปีต่อมาพญาพานเติบโตขึ้น ได้เป็นใหญ่ที่เมืองราชบุรี ยกทัพไปตีเมืองของพญากงพร้อมกับฆ่าผู้เป็นพ่อตาย ด้วยความไม่รู้จึงคิดจะนำภรรยาของพญาพาน ซึ่งเป็นแม่ของตน มาเป็นภรรยาของตนเองอีกด้วย แต่เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นคือ เมื่อเข้าไปหาแม่ แม่เกิดน้ำนมไหลออกมา จึงไปถามยายหอม ยายหอมจึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น พญาพานโกรธที่ยายหอมไม่บอกก่อน ทำให้ตนฆ่าพ่อ จึงฆ่ายายหอมผู้เลี้ยงดูตนเองไปอีกคน

ต่อมาพญาพานเกิดสำนึกผิด จึงคิดสร้างเจดีย์พระประโทนและพระพุทธรูปเพื่อเป็นการแสดงถึงความเสียใจและไถ่บาปในการฆ่าพ่อและยายหอม ซึ่งเปรียบได้กับแม่บุญธรรม


 เจดีย์จุลประโทนจำลอง คือโบราณวัตถุอีกอย่างที่น่าชม ไม่ใช่แค่เพราะเกี่ยวกับเรื่องราวในตำนาน แต่ยังมีฐานะเป็นโบราณสถานสมัยทวารวดีที่สำคัญ เชื่อกันว่าสถานที่ตั้งเจดีย์องค์นี้ คือบริเวณกลางเมืองนครปฐมโบราณ ที่เจริญขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐสอดิน มีรูปประติมากรรมปูนปั้นประดับเจดีย์สวยงาม รูปภาพประดับบนฐานประทักษิณแบ่งออกเป็นช่อง  ๆ ตกแต่งด้วยภาชนะดินเผาและปูนปั้น เล่าเรื่องนิทานชาดก

สุดทางเดินเราจะพบกับธรรมจักรศิลา ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คุณลุงทวีปบอกว่าในสมัยแรกธรรมจักรใช้แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เปรียบเหมือนผู้หมุนกงล้อแห่งธรรมให้เคลื่อนที่ไป  พุทธศิลปะในยุคแรกของอินเดียใช้สัญลักษณ์ต่างๆแทนพระพุทธองค์เพื่อเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติโดยธรรมจักรใช้เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ตอนพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นในภายหลัง


เดินชมจนทั่วก็พอดีได้เวลานัดหมาย เดินกลับออกมารวมกลุ่มหน้าประตูวัด เตรียมกลับไปที่โรงเรียน กลุ่มพวกเราอดไม่ได้ที่จะแอบยิ้มให้กัน เมื่อเห็นเพื่อน ๆ กลุ่มอื่น ไปเดินถ่ายภาพกันมาร้อนหน้ามัน เหงื่อท่วมตัว แต่กลุ่มของเรายังสดชื่นเย็นสบาย เพราะไปเที่ยวในห้องแอร์มา แถมยังได้รู้เรื่องราวที่น่าประทับใจอีกเยอะแยะด้วย


Monday, October 16, 2017

โครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๔ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย

   


อนุสาร อ.ส.ท. ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการอบรมเยาวชน YOUTH BLOGGERS  รุ่นที่ ๑๔ ขึ้น ณ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครปฐม ในระหว่างวันที่   ๒๓-๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา  ซึ่งในการอบรมครั้งนี้เป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัยรวมทั้งสิ้น ๔๗ คน




อบรมภาคทฤษฏีในวันแรกช่วงเช้า นายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. ทำหน้าที่วิทยากร บรรยายเรื่องเทคนิคการเก็บข้อมูล การเขียน และการถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยว ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะนำนักเรียนผู้เข้าอบรมลงฝึกภาคปฏิบัติ ในบริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดนครปฐม 
  


ในวันที่สองผู้เข้าอบรมฝึกเชิงปฏิบัติการเขียนสารคดีสั้น พร้อมคัดเลือกภาพถ่าย นำเสนอผ่านทางเครือข่ายชุมชนออนไลน์  พร้อมรับฟังการวิจารณ์ผลงาน เพื่อนำไปปรับปรุงในโอกาสต่อไป  

ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภายในรุ่นที่ ๑๔ มีดังนี้ รางวัลเนื้อหาดีเด่น ได้แก่ นางสาวนันทวรรณ ชมโคกกรวด จากสารคดีเรื่อง “ฝากท้องไว้ที่ระฆังทองแห่งนครปฐม”  รางวัลภาพถ่ายดีเด่นได้แก่ นางสาวกฤษชนก เสรฎฐวงศ์ จากสารคดีเรื่อง “ทิศบูรพา ตระการตาวิหารหลวง”  รางวัลนำเสนอดีเด่นได้แก่ นายธนกฤต เอ็นดูรัศมี และรางวัลผลงานกลุ่มดีเด่นได้แก่ กลุ่มGanger (กลุ่ม ๙) นางสาวณิรัชชา คุณาคำ นายณรงค์เดช ถมังรักษ์สัตย์ นางสาวณภัทร หอยสังข์ทอง นางสาวลัทธพรรณ เปรมปรีสุข และนางสาวธนภรณ์ เสริมสินสุข จากสารคดีเรื่อง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์”   โดยมีนายสุภพ สัมมเสถียร หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมนอกเวลาเรียน โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัลและกล่าวปิดการอบรม



ติดตามชมภาพถ่ายกิจกรรมและผลงานของเยาวชน YOUTH BLOGGERS ได้ที่ อนุสาร อ.ส.ท. ในคอลัมน์ “เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” เป็นประจำทุกเดือน และทางออนไลน์ที่กลุ่ม www.facebook.com/groups/osothoYB และที่แฟนเพจ www.facebook.com/youthbloggers

โครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๓ โรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา จังหวัดชุมพร


อนุสาร อ.ส.ท. ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชุมพร จัดโครงการอบรมเยาวชน YOUTH BLOGGERS  รุ่นที่ ๑๓ ขึ้น ณ โรงเรียนสะอาดเผดิมวิทยา อำเภอเมือง ฯ จังหวัดชุมพร ในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา   โดยมีนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานพิธีเปิดการอบรม ซึ่งในการอบรมครั้งนี้เป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา โรงเรียนศรียาภัย และวิทยาลัยอาชีวศึกษาชุมพร รวมทั้งสิ้น ๔๘ คน


อบรมภาคทฤษฏีในวันแรกช่วงเช้า นายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. ทำหน้าที่วิทยากร บรรยายเรื่องเทคนิคการเก็บข้อมูล การเขียน และการถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยว ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะลงฝึกภาคปฏิบัติในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร และศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ หาดทรายรี สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดชุมพร   


ในวันที่สองผู้เข้าอบรมฝึกเชิงปฏิบัติการเขียนสารคดีสั้น พร้อมคัดเลือกภาพถ่าย นำเสนอผ่านทางเครือข่ายชุมชนออนไลน์  พร้อมรับฟังการวิจารณ์ผลงานเพื่อนำไปปรับปรุงในโอกาสต่อไป  

ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภายในรุ่นที่ ๑๓ มีดังนี้ รางวัลเนื้อหาดีเด่น ได้แก่นายธนดล จรรยา จากสารคดีเรื่อง “ลืมใครไปหรือเปล่า” รางวัลภาพถ่ายดีเด่นได้แก่ นายพีรพล ไทยนุกูล จากสารคดีเรื่อง “แรงดึงดูดจากกาลเวลา”  รางวัลนำเสนอดีเด่นได้แก่  นางสาวณิชาภัทร แสงวิลัย และรางวัลผลงานกลุ่มดีเด่นได้แก่ กลุ่มมะพร้าว (๗) นายนวมินทร์ ชูปลอด นายวรายุทธิ์ กุ้ยติ๋ว นายธนดล จรรยา นางสาวกานตรัตน์ ดวงสวัสดิ์ นางสาวณิชาภัทร แสงวิลัย และนางสาวพิชญากรณ์ โพธิ์เวียง จากสารคดีเรื่อง  “ความลับของหุ่น” โดยมีนายวินัย กรานมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนสะอาดเผดิมวิทยาให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัลและกล่าวปิดการอบรม


ติดตามชมภาพถ่ายกิจกรรมและผลงานของเยาวชน YOUTH BLOGGERS ได้ที่ อนุสาร อ.ส.ท. ในคอลัมน์ “เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” เป็นประจำทุกเดือน และทางออนไลน์ที่กลุ่ม www.facebook.com/groups/osothoYB และที่แฟนเพจ www.facebook.com/youthbloggers

Monday, July 24, 2017

ลืมใครไปหรือเปล่า




ธนดล จรรยา...เรื่องและภาพ
รางวัลเนื้อหาดีเด่นจากโครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๓ โรงเรียงสอาดเผดิมวิทยา จังหวัดชุมพร

 ศาลาของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า บรรยากาศเงียบเหงา มีเพียงกลิ่นธูปจาง ๆ และก้านธูปสีแดงเก่า ๆ ซึ่งคนมาจุดไว้นานแล้วปักอยู่ในกระถาง   

ทั้งที่ศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหลังของตำหนักกรมหลวงชุมพรหรือ “เสด็จเตี่ย” ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย อบอวลด้วยกลิ่นธูป  ครึกครื้นไปด้วยเสียงเซ็งแซ่

ทำไมบรรยากาศของสถานที่สองแห่งถึงได้แตกต่างกันถึงขนาดนี้

หลายคนที่มาเที่ยวหาดทรายรี มักจะมาแวะกราบไหว้เสด็จเตี่ย แล้วก็เดินทางไปที่อื่น ๆ ต่อ โดยลืมไปว่าใกล้กันกับตำหนักกรมหลวงชุมพรฯ ยังมีศาลของ “หลวงปู่ศุข” วัดปากคลองมะขามเฒ่าตั้งอยู่


จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าหลวงปู่ศุขนั้นเป็นอาจารย์ของเสด็จเตี่ย ตลอดชีวิตของหลวงปู่ศุขมีลูกศิษย์มากมาย แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ศิษย์เอก" คือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ไม่ใช่เพราะเสด็จเตี่ยมีเชื้อสายเจ้าหรือเป็นพระโอรสของรัชกาลที่ ๕ แต่ที่นับว่าเป็นศิษย์เอก ก็เพราะว่าศิษย์คนนี้ รักและเคารพอาจารย์อย่างยอมตายถวายชีวิต

บันทึกจากคนเฒ่าคนแก่ยืนยันว่าเสด็จเตี่ย ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจากหลวงปู่ศุขไว้มากที่สุดเหนือกว่าศิษย์คนใด ทั้งยังมีความผูกผันกันอย่างลึกซึ้งดุจพ่อลูก  ครั้งเสด็จเตี่ยสิ้นพระชนม์ เมื่อหลวงปู่ศุขได้รับทราบข่าว ท่านก็ถึงกับนั่งซึม และเป็นเช่นนั้นนานมาก จนในที่สุดหลวงปู่ศุขได้มรณภาพลงด้วยโรคชราในปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๖ อันเป็นปีเดียวกับที่เสด็จเตี่ยสิ้นพระชนม์


เสด็จเตี่ยได้ถวายเรือให้หลวงปู่ศุขใช้ในการบิณฑบาต มีความยาว ๘ ศอก โดยสั่งต่อเป็นพิเศษ ทำด้วยไม้ชิ้นเล็ก ๆ อัดด้วยตะปูทองแดงทั้งลำ เรือลำนี้ไม่ต้องใช้ชันยาก็ไม่รั่ว นอกจากนี้ตรงกลางลำเรือยังมีพนักพิงสวยงาม มีพนักทำโปร่ง สามารถถอดออกจากเรือได้ ทำเป็น ๓ ชิ้น เวลาไม่ใช้ก็พับได้ เวลาที่หลวงปู่ศุขท่านนั่งเรือออกบิณฑบาต ท่านจะนั่งตรงกลาง มีลูกศิษย์พายหัวพายท้าย หลังจากที่หลวงปู่ได้มรณภาพลง เรือลำนี้ยังคงใช้ได้อยู่จนถึงสมัยสมุหทองหล่อ ทัศมาลี จากนั้นได้นำมาเก็บไว้ที่หอประชุมทางด้านเหนือของบริเวณวัดปากคลองมะขามเฒ่า เพราะเป็นหน้าแล้ง และไม่ได้นำมาใช้อีกเลย

มีเรื่องเล่าบอกต่อ ๆ กันมาว่าเสด็จเตี่ย ทรงโปรดการใช้วิถีชีวิตกลางแจ้ง ท่านจะวัดปากคลองมะขามเฒ่าบ่อย ๆ ส่วนใหญ่แล้วพระองค์จะเสด็จมาทางเรือ บางครั้งก็มีเรือติดตามมาด้วยหลายลำ ในการเสด็จมาของพระองค์นั้น บางครั้งจะทรงนำหม่อมและโอรสมาด้วย  มีหลักฐานเป็นลายพระหัตถ์ในสมุดเซ็นเยี่ยมของวัด  

บางครั้งกรมหลวงชุมพรฯ จะทรงคุยกับหลวงปู่ศุขจนถึงดึกดื่น บางครั้งจะประทับที่วัดปากคลองมะขามเฒ่าอยู่เป็นเดือน ๆ ซึ่งนอกจากจะมาศึกษาวิชาไสยศาสตร์แล้ว พระองค์ยังถือโอกาสพักผ่อนพระวรกายและยังได้คลุกคลีกับราษฎร

จากเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ย่อมแสดงว่าหลวงปู่ศุขเป็นผู้ที่เสด็จเตี่ยรักและเคารพเป็นอย่างมาก


เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากให้ทุกคนที่มายังหาดทรายรี มากราบไหว้เพียงแค่เสด็จเตี่ยเท่านั้น แต่อยากให้ทุกคนนึกถึงศาลาหลวงปู่ศุขที่ตั้งอยู่ทางด้านหลังของตำหนักของเสด็จเตี่ยด้วย


Thursday, June 8, 2017

โครงการอบรมเยาวชน YOUTH BLOGGERS รุ่นที่ ๑๒ โรงเรียนบางลี่วิทยา

 คณะ Youth Bloggers ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกหน้าองค์พระกกุสันโธ วัดไผ่โรงวัว

อนุสาร อ.ส.ท. ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการอบรมเยาวชน YOUTH BLOGGERS  รุ่นที่ ๑๒   ขึ้นในระหว่างวันที่  ๒๕-๒๖ พฤษภาคมที่ผ่านมา  ณ ห้องโสตทัศนูปกรณ์  โรงเรียนบางลี่วิทยา อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนายวิศิษฐ์ อนันต์วรปัญญา นายอำเภอสองพี่น้อง เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม พร้อมด้วยนางสาวฐิติพร พงษ์โต ผู้อำนวยการโรงเรียนบางลี่วิทยา เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการอบรมและร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาความสามารถของนักเรียนโรงเรียนบางลี่วิทยาในด้านการเขียนและการถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยว ซึ่งในการอบรมครั้งนี้เป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย  ของโรงเรียนบางลี่วิทยา รวมทั้งสิ้น ๕๗ คน

 
 บรรยากาศในการอบรม


อบรมภาคทฤษฏีในวันแรกช่วงเช้า นายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. ทำหน้าที่วิทยากร บรรยายเรื่องเทคนิคการเก็บข้อมูล การเขียน และการถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยว ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะลงฝึกภาคปฏิบัติในพื้นที่วัดไผ่โรงวัว แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอสองพี่น้อง

ในวันที่สองผู้เข้าอบรมฝึกเชิงปฏิบัติการเขียนสารคดีสั้น พร้อมคัดเลือกภาพถ่าย นำเสนอผ่านทางเครือข่ายชุมชนออนไลน์  พร้อมรับฟังการวิจารณ์ผลงานเพื่อนำไปปรับปรุงในโอกาสต่อไป  ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภายในรุ่นที่ ๑๒ นี้มีดังนี้ รางวัลเนื้อหาดีเด่น ได้แก่นางสาวสุดารัตน์ คุ้มเนตร  จากสารคดีเรื่อง “ศิลปกรรมหลังความตายที่วัดไผ่โรงวัว” รางวัลภาพถ่ายดีเด่นได้แก่ นายวรฤทธิ์ ล้ำเลิศ จากสารคดีเรื่อง “ที่สุดในโลก วัดไผ่โรงวัวก็มี” รางวัลนำเสนอดีเด่นได้แก่ นางสาวภัสพร จันทร์เสียงเย็น และรางวัลผลงานกลุ่มดีเด่นได้แก่กลุ่ม 4 in 1 นางสาวภัสพร จันทร์เสียงเย็น นางสาวเกวลิน นักจะเข้ นางสาวพรทิพา ศรีโปฏก นางสาวฐิติกานต์ ชาวบางแก้ว และนายธนกฤต พูดเพราะ จากสารคดีเรื่อง “ปลาร้าซิ่ง เด็ดจริงต้องวัดไผ่โรงวัว” โดยมี ดร.วรากร หงษ์โต รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัลและกล่าวปิดการอบรม


 มอบโล่และประกาศนียบัตร

ติดตามชมภาพถ่ายกิจกรรมและผลงานของเยาวชน YOUTH BLOGGERS ได้ที่ อนุสาร อ.ส.ท. ในคอลัมน์ “เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” เป็นประจำทุกเดือน และทางออนไลน์ที่กลุ่ม www.facebook.com/groups/osothoYB และที่แฟนเพจ www.facebook.com/youthbloggers

 

Thursday, June 1, 2017

"ปลาร้าซิ่ง" เด็ดจริงต้องวัดไผ่โรงวัว

เรื่องและภาพโดย  กลุ่ม 4 in 1 นางสาวภัสพร จันทร์เสียงเย็น นางสาวเกวลิน นักจะเข้ นางสาวพรทิพา ศรีโปฎก นางสาวฐิติกานต์ ชาวบางแก้ว และนายธนกฤต พูดเพราะ
ผลงานรางวัลประเภทกลุ่มดีเด่น โครงการอบรมเยาวชน Youth bloggers รุ่น ๑๒  โรงเรียนบางลี่วิทยา
           
           พูดถึงเรื่องของกินพื้นบ้านของคนไทยนั้นมีหลายอย่างมากมาย แต่ในวันนี้ของกินที่จะนำมาเสนอ ก็คือ...ปลาร้า 
            
            ปลาเป็นอาหารหลักคนไทยมาตั้งแต่โบราณ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลาอย่าง คนโบราณเลยคิดวิธีที่จะนำปลามาทำให้ได้อยู่ได้นาน จึงนำปลามาทำเป็นปลาร้า เป็นการถนอมอาหารให้รับประทานได้นาน ๆปลาร้าจึงเป็นอาหารที่นิยมค่อนข้างมากในประเทศไทย


           "ปลาร้าวัดไผ่โรงวัว" เป็นที่ขึ้นชื่อมากแห่งหนึ่ง นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมและประติมากรรมสวย ๆ ก็ยังมีของฝากยอดฮิตที่คนที่มาเที่ยวที่วัดไผ่โรงวัวต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกันทุกคน พราะในวัดไผ่โรงวัวมีร้านขายปลาร้าวางเรียงรายมากมาย ให้คนที่มาเที่ยวชมวัดไผ่โรงวัวได้เลือกซื้อกันตามใจชอบ 

               กลุ่ม 4 in 1ของเรา ได้ไปสอบถาม พูดคุย กับแม่ค้าที่ขายปลาร้าอยู่ในวัดไผ่โรงวัว เกี่ยวกับวิธีการทำปลาร้าให้มีรสชาติที่อร่อย จนหลายๆคนต้องติดอกติดใจ

               แม่ค้าได้บอกถึงวิธีการทำกับกลุ่มของเราว่า 

               "นำปลามาล้างทำความสะอาด แล้วนำปลามาคลุกเกลือแล้วหมักทิ้งไว้ 2-3 อาทิตย์ พอถึงกำหนดก็นำปลามาล้างให้สะอาด แล้วนำไปคลุกเกลือกับข้าวคั่ว แล้วหมักทิ้งไว้ ๒-๓ เดือน ก็สามารถนำมาวางขายได้ " 

             แม่ค้ายังเน้นย้ำตอนท้ายอีกว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยของลูกค้า" 

                สิ่งที่ทำให้คนที่มาเที่ยว ณ วัดไผ่โรงวัว ต้องติดใจกันทุกคน คือความใส่ใจในการทำของแม่ค้าทุกคน ที่คำนึงถึงลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนที่มาเที่ยวติดใจ แล้วบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ จนทำให้มีคนรู้จักปลาร้าวัดไผ่โรงวัวอย่างทั่วถึง

                สำหรับคนที่อยากชิมปลาร้าหรือชมสถาปัตยกรรมและประติมากรรมสวยๆ ที่วัดไผ่โรงวัวสามารถมาเที่ยวชมวัดไผ่โรงวัวได้ทุกวันเลยจ้า แม่ค้าและคนในชุมชนน่ารักมาก ยิ้มแย้มกันทุกคน สามารถสอบถามเรื่องต่าง ๆ ได้เลย
              ชาวอำเภอสองพี่น้องยินดีต้อนรับทุกๆคนที่มาเที่ยวชมวัดไผ่โรงวัวนะค่ะ

              วัดไผ่โรงวัวตั้งอยู่ที่ : ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี


Tuesday, May 30, 2017

ศิลปกรรมกรรมหลังความตายที่วัดไผ่โรงวัว



สุดารัตน์ คุ้มเนตร...เรื่องและภาพ
ผลงานรางวัลเนื้อหาดีเด่นในโครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๒  โรงเรียนบางลี่วิทยา จังหวัดสุพรรณบุรี 


          "การเข้าวัดเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ" นี่คือความคิดของเด็กไทยส่วนใหญ่ในสมัยปัจจุบัน 

           แต่นั่นก็เป็นเพียงมุมมองเดียวที่มีต่อสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา แต่ถ้าลองกวาดสายตามองให้ดีอย่างรอบคอบ คุณจะพบเห็นความน่าสนใจ

             ในวัดนั้นมีสถานที่ที่น่าสนใจมากมายอยู่เพียงแต่ว่าคุณ "มองไม่เห็น" หรือไม่คุณก็ "ไม่ได้สังเกต" 

             วันนี้ ดิฉันขอนำเสนอสถานที่ซึ่งเด็กสมัยปัจจุบันบางส่วนคิดว่าน่าเบื่อ นั่นก็คือ "วัด"

             วัดแห่งนี้มีชื่อเรียกไม่สั้นไม่ยาวนักว่า "วัดไผ่โรงวัว" วัดเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในแถบชานอำเภอสองพี่น้อง ในจังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่สำหรับความทรงจำดี ๆ ที่คุณต้องลืมไม่ลง 

             เพราะเมื่อคุณได้ย่างกรายเข้าไปแล้ว คุณจะสัมผัสได้ว่าไม่มีอะไรน่าเบื่อเลยสักนิด สถานที่แห่งนี้ มีสถาปัตยกรรมต่างๆที่นำเสนอแก่สายตาผู้มาเยี่ยมชมมากมาย ตั้งแต่ประตูวัด ไปจนถึงเขตสิ้นสุดของวัดเลยทีเดียว


                และสถานที่อันเป็นที่ดึงดูดสายตามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น เมืองนรกภูมิแห่งนี้...

                เมื่อดิฉันได้เดินเข้าไปสัมผัสสถานที่แห่งนี้ ความรู้สึกราวกับว่าเหมือนโดนกระชากลงไปยังดินแดนนรกนั้นก็ฉายขึ้นภายในจิตใจ ภาพเปรตและอสูรกายมากมายถูกทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ อันเป็นผลจากการกระทำของตนขณะที่ยังมีชีวิต 

                  ยิ่งทำให้ตริตรองได้ว่า "ไม่ว่าจะทำอะไรก็สมควรทำด้วยความตั้งมั่นในสติ" เพราะหากเมื่อทำผิดศีลไปก็จินตนาการออกเสียแล้วว่าตอนจบจะเป็นเยี่ยงไร 


                ได้สอบถามความเป็นมาจากพระสงฆ์รูปหนึ่ง ท่านบอกว่า "เป็นความคิดของหลวงพ่อขอมที่ทำขึ้นมา ก็เพราะต้องการที่จะเตือนสติคน" แล้วท่านก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวัดเพิ่มอีกมากมาย 

                เมื่อพระคุณเจ้าเล่าจบ ดิฉันก็ได้กราบลาและเดินตามทางมาเรื่อย ๆ ก็เจอกับป้ายเล็ก ๆ ที่ติดไว้อยู่ตามต้นไม้หลายป้าย แต่มีป้ายหนึ่งที่สะดุดตา โดยป้ายนี้อยู่ถัดจากเมืองนรกภูมิเพียงแค่บ่อน้ำกั้น
                 "สมบัติของมนุษย์ อยู่ที่ศีล" นี่คือข้อความที่ถูกเขียนไว้ในป้ายเล็ก ๆ นั่น 

                 ทำให้ฉันฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า "ไม่มีใครโกงความตายได้ และเมื่อตายไปทุกอย่างที่มีอยู่ก็นำติดตัวไปไม่ได้ ยกเว้นเสียแต่ความดีความชั่วที่ยังคงติดตัวตลอดไป"

                "ชื่อและเสียงไม่จีรังไม่ยั่งยืน เพียงข้ามคืนอาจหมดสิ้นและสูญหาย แต่ความดีแม้นว่าหลังความตาย ก็มิอาจสูญสลายตามเวลา"