Tuesday, May 30, 2017

ศิลปกรรมกรรมหลังความตายที่วัดไผ่โรงวัว



สุดารัตน์ คุ้มเนตร...เรื่องและภาพ
ผลงานรางวัลเนื้อหาดีเด่นในโครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers รุ่นที่ ๑๒  โรงเรียนบางลี่วิทยา จังหวัดสุพรรณบุรี 


          "การเข้าวัดเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ" นี่คือความคิดของเด็กไทยส่วนใหญ่ในสมัยปัจจุบัน 

           แต่นั่นก็เป็นเพียงมุมมองเดียวที่มีต่อสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา แต่ถ้าลองกวาดสายตามองให้ดีอย่างรอบคอบ คุณจะพบเห็นความน่าสนใจ

             ในวัดนั้นมีสถานที่ที่น่าสนใจมากมายอยู่เพียงแต่ว่าคุณ "มองไม่เห็น" หรือไม่คุณก็ "ไม่ได้สังเกต" 

             วันนี้ ดิฉันขอนำเสนอสถานที่ซึ่งเด็กสมัยปัจจุบันบางส่วนคิดว่าน่าเบื่อ นั่นก็คือ "วัด"

             วัดแห่งนี้มีชื่อเรียกไม่สั้นไม่ยาวนักว่า "วัดไผ่โรงวัว" วัดเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในแถบชานอำเภอสองพี่น้อง ในจังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่สำหรับความทรงจำดี ๆ ที่คุณต้องลืมไม่ลง 

             เพราะเมื่อคุณได้ย่างกรายเข้าไปแล้ว คุณจะสัมผัสได้ว่าไม่มีอะไรน่าเบื่อเลยสักนิด สถานที่แห่งนี้ มีสถาปัตยกรรมต่างๆที่นำเสนอแก่สายตาผู้มาเยี่ยมชมมากมาย ตั้งแต่ประตูวัด ไปจนถึงเขตสิ้นสุดของวัดเลยทีเดียว


                และสถานที่อันเป็นที่ดึงดูดสายตามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น เมืองนรกภูมิแห่งนี้...

                เมื่อดิฉันได้เดินเข้าไปสัมผัสสถานที่แห่งนี้ ความรู้สึกราวกับว่าเหมือนโดนกระชากลงไปยังดินแดนนรกนั้นก็ฉายขึ้นภายในจิตใจ ภาพเปรตและอสูรกายมากมายถูกทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ อันเป็นผลจากการกระทำของตนขณะที่ยังมีชีวิต 

                  ยิ่งทำให้ตริตรองได้ว่า "ไม่ว่าจะทำอะไรก็สมควรทำด้วยความตั้งมั่นในสติ" เพราะหากเมื่อทำผิดศีลไปก็จินตนาการออกเสียแล้วว่าตอนจบจะเป็นเยี่ยงไร 


                ได้สอบถามความเป็นมาจากพระสงฆ์รูปหนึ่ง ท่านบอกว่า "เป็นความคิดของหลวงพ่อขอมที่ทำขึ้นมา ก็เพราะต้องการที่จะเตือนสติคน" แล้วท่านก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวัดเพิ่มอีกมากมาย 

                เมื่อพระคุณเจ้าเล่าจบ ดิฉันก็ได้กราบลาและเดินตามทางมาเรื่อย ๆ ก็เจอกับป้ายเล็ก ๆ ที่ติดไว้อยู่ตามต้นไม้หลายป้าย แต่มีป้ายหนึ่งที่สะดุดตา โดยป้ายนี้อยู่ถัดจากเมืองนรกภูมิเพียงแค่บ่อน้ำกั้น
                 "สมบัติของมนุษย์ อยู่ที่ศีล" นี่คือข้อความที่ถูกเขียนไว้ในป้ายเล็ก ๆ นั่น 

                 ทำให้ฉันฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า "ไม่มีใครโกงความตายได้ และเมื่อตายไปทุกอย่างที่มีอยู่ก็นำติดตัวไปไม่ได้ ยกเว้นเสียแต่ความดีความชั่วที่ยังคงติดตัวตลอดไป"

                "ชื่อและเสียงไม่จีรังไม่ยั่งยืน เพียงข้ามคืนอาจหมดสิ้นและสูญหาย แต่ความดีแม้นว่าหลังความตาย ก็มิอาจสูญสลายตามเวลา"


Monday, May 8, 2017

“เหรา” ตัวคายนาค

 โฉมหน้าของเหราแบบชัด ๆ 

นพรัตน์ จิโน... เรื่องและภาพ
ผลงานสารคดีสั้นจากผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการ YB Special # 1

วันนี้พวกเราแก๊งค์ “หนุ่มสาวน่านเนิบ ๆ” ตั้งใจเป็นอย่างมากที่ จะเดิน “เล๊อะวัดแวดวา” ในเมืองน่านให้ทั่ว เพราะได้ยินได้ฟังมานานแล้วว่า “น่าน” เป็นจังหวัดที่มี “วัด” ซึ่งเป็นแหล่งท่องที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก

ไม่เป็นว่าจะเป็น “วัดภูมินทร์” ที่มีจิตรกรรมฝาผนังภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งกลายเป็นภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่านที่ผู้คนนึกถึงกันทั่วไป “วัดพระธาตุเขาน้อย” จุดวิวพอยด์ที่สามารถมองเห็นภาพมุมสูงของตัวเมืองน่านได้อย่างสวยงาม “วัดพระธาตุแช่แห้ง” วัดประจำคนที่เกิดปีเถาะหรือปีกระต่ายที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องมากราบไหว้สักการะบูชาให้ได้ 

 วัดมิ่งเมือง ที่ตั้งศาลหลักเมือง

วัดมิ่งเมือง” วัดนี้เองที่พวกเราหนุ่มสาวน่านเนิบ ๆ ตั้งใจจะเริ่มเดินเที่ยววัดแบบเนิบ ๆเป็นวัดแรกเพราะวัดมิ่งเมืองนี้เป็นวัดที่อยู่ใจกลางเมือง มีสถาปัตยกรรมโบสถ์วิหารเป็นสีเงิน งดงามชวนตื่นตายิ่งนัก

จากการสังเกตรูปปั้นต่าง ๆ ในวัดนี้มี “สัตว์ประหลาด” อยู่ตัวหนึ่งที่ชวนให้สงสัยว่าทำไมมันต้อง “คาย” รูปปั้นพญานาคตัวใหญ่สองฝั่งบันไดทางขึ้น หรือคายรูปปั้นเทวดา ยักษ์ หรือรูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ ด้วย

จากสอบผู้เฒ่าผู้แก่และพระในวัด ทำให้ทราบว่าเจ้าตัวประหลาดนี้ชื่อว่าตัว “เหรา” หรือ “มกร” 

 เหราคายเทวดาและอมนุษย์

แต่ก่อนจะไปรู้จักกับเจ้าตัวประหลาดนี้ พระท่านและผู้เฒ่าในวัดมิ่งเมืองได้เมตตาเล่าเรื่องของวัดมิ่งเมืองนี้ว่าสร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถะวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๕๗ ได้โปรดให้ฝังเสาหลักเมือง ณ วัดมิ่งเมืองแห่งนี้ เมื่อปี ๒๓๓๓ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสำหรับการตั้งบ้านเมืองจนเป็น “เมืองน่าน” และ “จังหวัดน่าน” ในทุกวันนี้

 เสาหลักเมืองน่าน

แต่เดิม “เสาหลักเมืองน่าน” เป็นเสาไม้สักทองทรงกลมขนาดใหญ่สูงประมาณ ๓ เมตร หัวเสาเป็นรูปดอกบัวตูม

ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ เกิดน้ำท่วมใหญ่ กระแสน้ำจากแม่น้ำน่านได้ไหลเข้าท่วมถึงตัวเสาหลักเมือง ทำให้เสาหลักเมืองโค่นล้มลง เพราะรากเสาผุกร่อนมาก เนื่องจากฝังดินมานานกว่าร้อยปี

จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๔  ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในขณะนั้น จึงได้นำข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมกันสร้างเสาหลักเมืองน่าน พร้อมสร้างศาลครอบเสาหลักเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอาราธนาหลวงปู่โง่น จากจังหวัดพิจิตร มาเป็นช่างในการสร้างเสาหลักเมืองนี้ โดยนำเสาหลักเมืองน่านต้นเดิมมาเกลาแต่งใหม่ แล้วสลักหัวเสา เป็นพรหมสี่หน้าจนเป็นเสาหลักเมืองมาจนทุกวันนี้

 เหราคายพญานาคสามเศียร

กลับมาที่เจ้าตัวประหลาด “เหรา” หรือ “มกร” เป็นสัตว์ในความเชื่อของพม่าและล้านนา ว่าเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของความไม่รู้หรืออวิชชา ส่วนที่คายนาค หรือเทวดา หรือสัตว์ที่บำเพ็ญบุญออกมา นั้นก็เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการก้าวเข้าสู่วิชา


ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้กับผู้ที่มาวัด เข้าโบสถ์ ว่าเรามาเพื่อบำเพ็ญบุญกุศล เพื่อกำจัด “อวิชชา” หรือ “ความไม่รู้”ของเรานั่นเอง.

 เหราคายพญาครุฑ

"ฮ้านน้ำ...น้ำใจ๋คนน่าน" ร้านน้ำ...น้ำใจคนน่าน

 ร้านน้ำในบริเวณวัดภูมินทร์ (เหม่ง วาไรตี้ทราเวล...ภาพ) 
วิจิตร จิตรวงศ์นันท์... เรื่องและภาพ

วิถีแห่งชนคนเมืองน่านแต่ดั้งเดิมมาผู้คนที่มีบ้านเรือนอยู่ติดกับถนนหนทางจะสร้างร้านน้ำไว้ใกล้กับประตูหน้าบ้านของตน โดยจะมีหม้อน้ำ ๒ - ๓ ใบ (เป็นหม้อดินเผา ปั้นโดยช่างปั้นหม้อในท้องถิ่น) พร้อมด้วยกระบวยตักน้ำ ทำจากกะลามะพร้าว ด้ามทำมาจากไม้เนื้อแข็ง แกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ส่วนมากจะเป็นรูปหางพญานาคอย่างสวยงาม ผู้ที่สัญจรผ่านทางไปมาก็สามารถแวะตักน้ำดื่มได้ตามความต้องการของตน

ปัจจุบันนี้ไม่เห็นร้านน้ำหน้าบ้านอีกแล้ว แต่น้ำใจคนน่านยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

 ร้านน้ำหน้าบ้านหลวงธนานุสรณ์


ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้ เป็นร้านน้ำที่บ้านคุณหลวงธนานุสรณ์ (ช่วง โลหะโชติ) บรรพบุรุษของ สส.น่านหลายท่าน

เรื่องร้านน้ำนี้มีเกล็ดขำ ๆ เล่าสู่กันมาอยู่เรื่องหนึ่ง ผู้เขียนจำมาจากผู้เฒ่าผู้แก่

ท่านเล่าให้ฟังว่ามีบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านท่านตั้งร้านน้ำไว้หน้าบ้าน เพื่อเป็นการทำทานแก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา โดยมีหม้อน้ำ ๓ ใบ กระบวย ๓ ขนาด คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

 อยู่มาวันหนึ่ง มีคนสัญจรเดินผ่านทางมาถึงหน้าบ้านหลังนั้น ผู้ผ่านทางคงจะกระหายน้ำมาก จึงตรงเข้าไปหยิบกระบวยขนาดเล็กจ้วงตักน้ำจากในหม้อขึ้นมาดื่มถึง ๓ กระบวย

เจ้าของบ้าน ซึ่งนอนเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านมองเห็นดังนั้น ก็ลุกขึ้นมา เดินเข้าไปหาคนผ่านทาง
แล้วต่อว่า “ท่านกระหายน้ำมาก ทำไมไม่ใช้กระบวยใหญ่ตักล่ะ”

ผู้ผ่านทางก็มองหน้าเจ้าของบ้าน ขอบคุณ แล้วก็เดินจากไป

ต่อมามีคนผ่านทางอีกคนหนึ่ง ผ่านมาถึงหน้าบ้านหลังนั้น แล้วแวะเข้าไปดื่มน้ำ
โดยใช้กระบวยใบใหญ่ตักน้ำขึ้นดื่ม เมื่อดื่มไม่หมดก็เททิ้ง

  เจ้าของบ้านมองเห็นก็เดินเข้ามาต่อว่าอีก “ท่านไม่กระหายมากทำไมไม่ใช้กระบวยใบกลางหรือใบเล็กล่ะ”

    คนผ่านทางก็ไม่ตอบโต้แล้วเดินทางต่อไป 

   คำเล่าลือถึงความเป็นคนเจ้าระเบียบ และรู้จักประมาณตนของเจ้าของบ้านหลังนั้น ถูกเล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นของข้าพเจ้า

 ร้านน้ำในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน (ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ภาพ)